ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวองค์กร

ททท. แถลงข่าว ผลวิจัยภาพลักษณ์ “ไทยยังอะเมซิ่งอยู่จริงหรือ”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงเมื่อวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถึงผลการวิจัยจากโครงการศึกษาภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ หรือ Thailand Destination Image โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 14 ประเทศ ประเทศละประมาณ 250 ตัวอย่าง รวมเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น 3,640 ตัวอย่าง

ในการนี้ ททท. ได้มอบหมายให้บริษัทยูเรก้า คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นที่ปรึกษา ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 8 เดือน ดำเนินการสำรวจทั้งวิธีเชิงปริมาณและวิธีเชิงคุณภาพ โดยค้นหาความเป็นตัวตนและการมองภาพลักษณ์ประเทศไทยจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งที่เคยมาซ้ำ มาเที่ยวเป็นครั้งแรก และยังไม่เคยมาเที่ยวแต่รู้จักประเทศไทย นักท่องเที่ยวเหล่านี้สุ่มตัวอย่างจากประเทศที่มีสำนักงานสาขาของ ททท. ได้แก่ มาเลเซีย, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ออสเตรเลีย, จีน, เกาหลี, อินเดีย, รัสเซีย, เยอรมนี, สวีเดน และอิตาลี

นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “โครงการนี้เป็นการทบทวนตรวจสอบข้อมูลในปัจจุบัน ที่สะท้อนภาพความเข้าใจ ความเชื่อ ความคาดหวังของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย โดยมุ่งหวังว่าจะนำผลการศึกษามาประกอบการจัดทำแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันเปลี่ยน และการแข่งขันที่สูงขึ้น”

นอกจากการวิเคราะห์เนื้อหาจากข้อมูลเรื่องเล่า การใช้คำหลัก และภาพวาดแล้ว การวิจัยครั้งนี้ได้เติมเต็มด้วยวิธีวิจัยแบบ Netnography ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีและพฤติกรรมสังคมออนไลน์ ติดตามพฤติกรรมจริงของนักท่องเที่ยว ด้วยแอพพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ไอโฟนและ iPad ซึ่งนักท่องเที่ยวได้บันทึกประสบการณ์การท่องเที่ยวของตนผ่านแอพพลิเคชั่นนั้น

ภาพลักษณ์ของไทยในแง่มุมต่างๆ ที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความคุ้มค่า หรือ Value for money ตลอดจนเรื่อง Amazing Thailand และ Sea Sun Sand ยังคงปรากฏชัดในงานวิจัยนี้ หากแต่แปรเปลี่ยนความหมายไปในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น อันเป็นผลมาจากประสบการณ์โดยตรงผนวกสื่อออนไลน์ ซึ่งในงานวิจัยนี้บ่งชี้ว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลทำให้นักท่องเที่ยวทั้งที่เคยมาและไม่เคยมามองภาพลักษณ์ไทยไม่ต่างกัน

นายพงศธร เกษสำลี รองผู้ว่าการ ททท. ด้านนโยบายและแผน ได้กล่าวเสริมว่า “เมื่อผลการวิจัยบ่งชี้ว่านักท่องเที่ยวรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยผ่านสื่อออนไลน์ และ Social media มากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวในด้านการสื่อสารการตลาดโดยมุ่งส่งเสริมการตลาด Online (Digital Marketing)  เพื่อเน้นย้ำภาพของการเป็นแหลงท่องเที่ยวคุณภาพผ่านเว็บไซต์  ททท.   รวมทั้งจะดำเนินการพัฒนาและประยุกต์สื่อสังคมออนไลน์และใช้ new media ต่างๆ  อาทิ การพัฒนาแอพลิเคชั่น การพัฒนาการบริการ Location-Based Social Networking Service  และ เกมส์ออนไลน์ (Gamification) ที่ใช้เอกลักษณ์ ความเป็นไทย เข้ามาเสริมในส่วนการทำการตลาดเชิงรุกในทุกรูปแบบ”

ผศ. ดร. จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการ ในนามบริษัทยูเรก้า คอนซัลติ้ง จำกัด ได้กล่าวสรุปว่า “นักการตลาดสามารถนำผลนี้ไปเป็นจุดเริ่มต้นต่อการทำความเข้าใจว่า นักท่องเที่ยวเห็นภาพเราเป็นอย่างไร และมีอะไรที่เราอาจมิได้เป็นในสายตานักท่องเที่ยว ดังนั้น กลยุทธ์ที่มุ่งหวังให้เกิดการสร้างภาพหนึ่งๆ ให้ได้นั้น นักการตลาดต้องกำหนดแผนการสร้างภาพและตอกย้ำภาพนั้นๆ ให้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากกว่าเพียง “ส่งเสริม” 

อ.ณฤดี  คริสธานินทร์  ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า  สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ นักท่องเที่ยวเริ่มมองหาคุณค่าจากการเสพประสบการณ์ในการท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ว่านักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยซ้ำ และมาครั้งแรก มองภาพลักษณ์ประเทศไทยเหมือนกัน คือ มหัศจรรย์ (Amazing) การต้อนรับขับสู้ (Welcoming)  แต่สิ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยหลายครั้งสัมผัสได้แตกต่างคือ Happy Spirit ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินกลยุทธ์ ในการนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยได้

...“ข้อมูลเชิงวิชาการจากการศึกษาวิจัยที่นำเสนอนี้ จะนำสู่การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย สามารถกำหนดทิศทาง นโยบายการดำเนินงานให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนของภาพลักษณ์ความเป็นไทย ที่จะประทับใจแก่แขกผู้มาเยือน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงภาพลักษณ์เชิงลบให้ดีขึ้น ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ชาวต่างชาติที่สนใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น” ผู้ว่า ททท. กล่าวในที่สุด

*สื่อมวลชนสามารถ Download ข้อมูลวิจัยได้ที่ www.etatjournal.com

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

กองวิจัยการตลาด ททท.

โทร. (66) 0 2250 5500 ต่อ. 2620-2

บริษัทยูเรก้า คอนซัลติ้ง จำกัด

โทร. 085 909 5560

แสดงผล 1397 ครั้ง