ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวองค์กร

ททท. และ MICHELIN จัดแถลงข่าว The MICHELIN Guide Ceremony Thailand 2024 พร้อมเปิดตัวคู่มือฉบับปี 2567 ประกาศลิสต์ 447 ร้านอาหาร รวมพื้นที่ใหม่ “เกาะสมุย” และ “สุราษฎร์ธานี”

เช้านี้ (13 ธันวาคม 2566) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ MICHELIN จัดงานแถลงข่าว The MICHELIN Guide Ceremony Thailand 2024 เปิดตัว ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 ขยายพื้นที่ใหม่สู่เกาะสมุยและสุราษฎร์ธานี โดยฉบับล่าสุดมีร้านอาหารผ่านการคัดสรรทั้งสิ้น 447 ร้าน พร้อมมอบรางวัลอันทรงเกียรติแก่ร้านอาหาร ‘ดาวมิชลิน’ (MICHELIN Star) และ 4 รางวัลพิเศษแก่บุคลากรมืออาชีพในแวดวงร้านอาหารของประเทศไทย 

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า  คู่มือ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรมระดับโลก สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ท่องเที่ยวและเพิ่มคุณค่าแห่งประสบการณ์ที่มีความหมายและเติมเต็มความสุขระหว่างเดินทางท่องเที่ยว โดยจากผลการศึกษาวิจัยจำนวน 3 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2560 คาดว่า มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย สามารถสร้างรายได้มูลค่าส่วนเพิ่มด้านอาหารของประเทศไทยให้กับการท่องเที่ยวแล้วสูงกว่า 1,300 ล้านบาท สำหรับ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (The MICHELIN Guide Thailand 2024) ปีนี้ขยายขอบเขตเข้าจัดอันดับร้านอาหารบนเกาะสมุยและแผ่นดินใหญ่ของสุราษฎร์ธานี ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจร้านอาหารในท้องถิ่นที่จะได้ต้อนรับนักชิมจากทั่วทุกมุมโลกให้มาสัมผัสรสชาติและวัฒนธรรมอาหารเมืองชายทะเลฝั่งอ่าวไทยที่มีเอกลักษณ์หรอยแรงอันโดดเด่นเฉพาะตัว 

มิชลิน ไกด์ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (The MICHELIN Guide Thailand 2024) บรรจุรายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรรวมทั้งสิ้น 447 แห่ง เป็นร้านที่ได้รับรางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ จำนวน 7 ร้าน  โดยเป็นร้านอาหารที่เลื่อนระดับจาก ‘1 ดาวมิชลิน’ จำนวน 2 ร้าน ได้แก่ บ้านเทพา และ กา รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ จำนวน 28 ร้าน โดยเป็นร้านที่ติดอันดับครั้งแรก 3 ร้าน ได้แก่ อินดี, นว และสำรับสำหรับไทย และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน ได้แก่ ร้านมีอา เรโซแนนซ์  และ วรรณยุค รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ จำนวน 196 ร้าน โดยเป็นร้านอาหารที่ติดอันดับครั้งแรก 28 ร้าน และมาจาก MICHELIN Selected 4 ร้าน และร้านแนะนำ (MICHELIN Selected) อีกจำนวน 216 ร้าน โดยติดอันดับครั้งแรก 37 ร้าน  ถือเป็นคู่มือเล่มที่บรรจุร้านอาหารที่ได้รางวัลในประเภทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและมีจำนวนสูงสุดตั้งแต่เคยมีมา และในจำนวนร้านหน้าใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเป็นฉบับที่ 7 ของไทย 23 ร้านตั้งอยู่ในเกาะสมุย (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 4 ร้าน และ MICHELIN Selected 7 ร้าน) และสุราษฎร์ธานี (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 8 ร้าน และ MICHELIN Selected 4 ร้าน)  นอกจากนี้ รางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” ที่มอบให้กับร้านอาหารที่มีแนวปฏิบัติด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มี 4 รางวัล โดยในปีนี้มีร้านอาหารครองรางวัลนี้เพิ่มขึ้น 1 ร้าน ได้แก่ เเฌม บาย ฌอง-มิเชล โลรองต์ ซึ่งอีก 3 ร้านที่ยังครองรางวัล ได้แก่ พรุ Haoma และ จำปา

นอกจากนี้ คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ประจำปี 2567 ยังมอบรางวัลพิเศษรวม 4 รางวัล ให้กับบุคลากรมืออาชีพจากร้านอาหารที่ติดอันดับในคู่มือฯ ได้แก่ รางวัล MICHELIN Young Chef Award มอบให้กับสุดยอดเชฟรุ่นใหม่ของร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่มีทักษะความสามารถโดดเด่น คือ เชฟ “ตาม” ชุดารี เทพาคำ จากร้านบ้านเทพา รางวัล MICHELIN Opening of the Year Award มอบให้กับบุคลากรและทีมงานซึ่งประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหารใหม่และมีแนวคิดนำเสนออาหารอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นกระแสในวงการอาหารของประเทศ ปี 2567 คือ วิชชุพล เจริญทรัพย์ เจ้าของร้านนว รางวัล MICHELIN Service Award มอบให้สุดยอดบุคลากรของร้านอาหารที่ทุ่มเทให้กับการบริการ คือ หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois) จากร้านเชฟส์เทเบิล  และรางวัล MICHELIN Sommelier Award มอบให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น และมีความชำนาญเกี่ยวกับไวน์ชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ด้านอรรถรสสูงสุด โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ ธนากร บอทอร์ฟ จากร้านอินดี

ความสำเร็จของร้านอาหารมิชลินถือเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญสะท้อนคุณภาพและศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี จากผลการดำเนินโครงการ The MICHELIN Guide Thailand ในปี 2562 และในปี 2565 - 2566 ประเมินโดยบริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด สะท้อนให้เห็นว่า โครงการฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้านภาพลักษณ์และเชิงเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม พบว่าภาพลักษณ์การเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านอาหาร (Gastronomy Tourism) ของประเทศไทยจากทัศนคติของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 38 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 44 ในปี 2566 และประเทศไทยได้รับคะแนนทัศนคติของชาวไทยด้านการเป็นผู้นำการเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านอาหารในระดับสากลสูงถึงร้อยละ 99 (จากเดิมปี 2565 ร้อยละ 94 และปี 2562 ร้อยละ 90) ขณะที่ในเชิงรายได้  ในปี พ.ศ. 2561-2562 การดำเนินโครงการสามารถสร้างรายได้ส่วนเพิ่มด้านอาหารของประเทศไทยจากการดำเนินโครงการฯ ประมาณ 842.4 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 สร้างมูลค่าส่วนเพิ่มประมาณ 223.4 ล้านบาท และในปี 2566 จำนวนประมาณ 263 ล้านบาท  นอกจากนี้ ยังเกิดประโยชน์ทั้งต่อร้านอาหารโดยตรงและผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-40 มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพร้านอาหาร มีการแข่งขันและพัฒนาเพื่อรักษามาตรฐานของร้านอาหาร อันจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการยกระดับห่วงโซ่อุปทานและสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยในเชิงคุณภาพระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดรายชื่อและรูปภาพร้านอาหาร พร้อมทั้งบรรยากาศภายในงานแถลงข่าว ได้ที่ shorturl.at/qxN89

แสดงผล 386 ครั้ง