บทความที่น่าสนใจ

หัตถกรรมเส้นไหม เพชรงามแห่งภูมิปัญญา “ผ้ายกดอก ลำพูน”และ “ผ้ายกทอง สุรินทร์”

หัตถกรรมเส้นไหม เพชรงามแห่งภูมิปัญญา “ผ้ายกดอก ลำพูน”และ “ผ้ายกทอง สุรินทร์”

ผ้ายกดอกและผ้ายกทอง องค์ประกอบแห่งความวิจิตรประณีตศิลป์บนพระภูษาทรงที่คัดสรรอย่างพิถีพิถันเพื่อเป็นเครื่องทรงฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธียิ่งใหญ่ครั้งสำคัญของประเทศไทย ผ้ายกดอก จังหวัดลำพูน และผ้ายกทอง จังหวัดสุรินทร์ ได้รับการคัดเลือกเป็นพระภูษาทรงในงานพระราชพิธีสำคัญนี้ด้วยความงดงามของเส้นไหมที่ถูกถักทอลวดลายร้อยเรียงอย่างประณีตเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง ผ้ายก ถักทอแบบยกตะกอเส้นด้ายขึ้นตามลวดลายที่วางไว้เกิดเป็นลายนูนขึ้นจากผืนผ้า ส่วนใหญ่การทอลวดลายจะใช้ฝ้ายหรือไหมสีเดียวกันตลอดทั้งผืน บางครั้งอาจมีการจกฝ้ายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความโดดเด่นของลวดลาย หากทอยกด้วยไหมจะเรียก “ยกไหม” หากทอยกด้วยเส้นทองจะเรียก “ยกทอง”

 

สำหรับผ้ายก จังหวัดลำพูน มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง มีรูปแบบลวดลายบอกเล่าความวิจิตรบรรจงผ่านเส้นไหมที่อ่อนช้อยงดงาม โดยมากถักทอเป็นลายดอกไม้ จึงเรียกผ้ายกนี้ว่า “ผ้ายกดอก” ตามลวดลายบนผืนผ้า นิยมทอยกลายดอกพิกุลซึ่งเป็นลวดลายโบราณดั้งเดิมและปัจจุบันก็ยังคงได้รับความนิยมมาก นอกจากนี้ยังมีทอยกลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์

ปัจจุบันจังหวัดลำพูนเป็นศูนย์กลางแห่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าไหมยกดอกที่ได้รับการถ่ายทอดและสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ขยายแหล่งทอไปหลายแหล่งทั่วจังหวัด ทั้งในอำเภอลี้ และอำเภอทุ่งหัวช้าง 

กลุ่มหัตถกรรมผ้าทอบ้านสันดอนฮอม ตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง เป็นสถานที่ทอผ้าที่มีชื่อของจังหวัดที่นี่จะมีกลุ่มชาวบ้านทอไหมยกดอกเป็นอาชีพ สืบสานศิลปวัฒนธรรมในการทอผ้ามาเป็นเวลานานการทอผ้าเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตที่สำคัญของชาวบ้านและถือเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ผ้าไหมยกดอกที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศ จนได้การรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ลายผ้ายกดอกของที่นี่ ไม่ใช่มีเพียงแต่ลายดั้งเดิมเท่านั้น กลุ่มชาวบ้านยังได้คิดค้นลวดลายใหม่ๆเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับตลาดคนรุ่นใหม่และเพิ่มโอกาสในการใส่ผ้าไหมยกดอกในงานพระราชพิธีหรืองานแฟชั่นต่างๆ ทั้งนี้กลุ่มหัตถกรรมฯ ยังมีการสาธิตการทอผ้าและมีวิทยากรคอยให้ความรู้เรื่องผ้า นอกจากนี้ยังจำหน่ายผ้าไหมยกดอกแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวอีกด้วย

สำหรับผ้ายกทอง จังหวัดสุรินทร์ได้รับคัดเลือกเป็นพระภูษาทรงเช่นเดียวกัน ต้นสายแหล่งทอจังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านทอผ้าไหมโบราณบ้านท่าสว่างเป็นแหล่งทอที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในนามหมู่บ้านทอผ้าเอเปก แต่เดิมชาวบ้านทอผ้าเป็นอาชีพเสริม จนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากชื่อเสียงของผ้าไหมทอ 1,416 ตะกอไหม ซึ่งเป็นผลงานศิลปหัตถกรรมภายใต้ชื่อ“กลุ่มทอผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา” จุดเด่นของการทอผ้ายกทองจันทร์โสมาคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทอชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ นำใยไหมเส้นเล็กละเอียดมาย้อมสีธรรมชาติ ผสมผสานเทคนิคการทอสลับซ้อนดิ้นทองแบบราชสำนัก กับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้านจนกลายเป็นผ้าไหมยกทองโบราณที่มีความอ่อนช้อยวิจิตรงดงามทำให้ผ้าไหมยกทองเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น

                           

 

               

ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการทอผ้าที่บ้านท่าสว่างเป็นอีกสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยจำนวนตะกอกว่าพันตะกอ อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ต้องขุดดินบริเวณที่วางกี่ให้เป็นหลุมลึกลงไป 2-3 เมตร เพื่อรองรับความยาวของตะกอ โดยใช้คนถึง 4-5 คนในการทอและทอได้เพียงวันละไม่กี่เซนติเมตร นับเป็นการถักทอที่เปี่ยมไปด้วยความอดทนและความประณีตบรรจง มุ่งมั่นรังสรรค์ความงดงามลงบนผืนผ้าอย่างน่าอัศจรรย์

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่

- กลุ่มหัตถกรรมชวลิตไหมไทย บ้านสันดอนฮอม ตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง  โทร. 08 6180 6399 และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง โทร. 0 5422 2214-5

- กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ โทร. 0 4414 0015 และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0 4451 4447-8

แสดงผล 6824 ครั้ง