One Soul One Art for Lopburi
One Soul One Art for Lopburi หัวใจหนึ่งเดียว เพื่อศิลปะ เพื่อลพบุรี
หัวใจแห่งศิลปะที่แต่งแต้มเติมสี เมืองรองอย่าง “ลพบุรี” ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมานั้น ถือเป็นคุณค่าแห่งการสร้างสรรค์สังคมที่ยิ่งใหญ่
“เราคิด...เราสร้าง...ด้วยใจที่อยากมอบสิ่งดีๆแก่สังคม” , อาจารย์เสรี แก้ววิเชียร (22 มิถุนายน 2562)
“อาจารย์เสรี แก้ววิเชียร” ครูศิลปะสองมือหนึ่งใจเพื่อลพบุรีคนนี้ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Lopburui และผู้ริเริ่มกิจกรรมกราฟิตี้ Street Art ของลพบุรี จากโครงการกราฟิตี้ Street Art เมื่อปี พ.ศ.2559 บริเวณโรงภาพยนตร์มาลัยรามา ศาลพระกาฬ จนถึงโครงการครั้งที่ 2 ณ กำแพงการประปา ลพบุรี
โครงการครั้งที่ 2 นี้ อาจารย์เสรีและกลุ่ม Lopburui พกหัวใจรักศิลปะดวงเดิม เพิ่มเติมคือความคิดดีที่ยิ่งใหญ่กว่าครั้งเก่า ความคิดที่จะพัฒนา เมืองลพบุรี บ้านเกิด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่มความสุขแก่ผู้มาเยือนเป็นเท่าทวีคูณ
อาจารย์เสรี เล่าให้ทีมงาน ททท. ฟังว่า “โปรเจกต์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากครั้งก่อน จากความคิดที่อยากจะนำสีสันมาเพิ่มให้กับเมืองลพบุรี สร้างคุณค่าให้พื้นที่ธรรมดา เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างรอยยิ้มให้คนมาเที่ยว ซึ่งเป็นการแบ่งปันความสุขง่ายๆ ทั้งยังอยากนำศิลปะเข้าไปถึงผู้คน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือนักท่องเที่ยว นำศิลปะมาอยู่ใกล้ ให้พวกเขาได้ซึมซับและเชื่อมโยงตัวเองกับศิลปะใกล้ตัว และเข้าใจได้ว่าศิลปะมันคือพื้นฐานในชีวิตที่มอบคุณค่ามากกว่าที่คิด โดยเชื่อว่าศิลปะข้างถนนอย่างกราฟิตี้เป็นสิ่งที่ซึมซับได้ง่าย และสามารถสร้างเป็นแรงบันดาลใจได้ ตนเองทำด้วยใจที่มีความสุขและสนุก จึงอยากส่งต่อให้คนอื่นๆได้สัมผัสเช่นกัน”
ฟันเฟืองไอเดียมากมายขับเคลื่อนลงสู่สองมือ อาจารย์เสรีเริ่มต้นด้วยทุนส่วนตัว และแรงช่วยเหลือของเพื่อนๆ ผู้ปกครองนักเรียนที่โรงเรียนสาธิตราชภัฎเทพสตรี ร่วมกันคนละไม้คนละมือ เกิดเป็นโปรเจกต์ใหม่อีกครั้ง ครั้งนี้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านแฟนเพจ facebook กลุ่ม Lopburui โดยกำหนดวัน D-DAY คือ วันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
ผลตอบรับเป็นที่น่าชื่นใจ ศิลปินจากทั่วประเทศอาสาเข้าร่วมด้วยใจกว่า 30 ท่าน ตลอดจนน้องๆเยาวชนชาวลพบุรีก็พร้อมใจร่วมกันถ่ายทอดศิลปะกราฟิตี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สีสรรค์ลพบุรี” ครอบคุลมถึงเรื่องราวชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนลิงลพบุรี ซึ่งศิลปินแต่ละท่านออกไอเดียสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระ ไร้ขอบเขต ลงบนกำแพงประปา ลพบุรี บริเวณวงเวียนสระแก้ว ซอยข้างโรงเรียนบรรจงรัตน์ เป็นเส้นทางกว่า 500 เมตร
อาจารย์เสรี กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากลพบุรีเป็นเมืองรอง การเดินทางจากเมืองหลวง กรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแวะลงลพบุรีเพื่อมาแหล่งท่องเที่ยวพระปรางค์สามยอด วังนารายณ์ ศาลพระกาฬ หลังจากนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะเดินทางต่อ ไม่พักค้างแรม พวกเราจึงพยายามขยายจุดท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวค้นหาสีสันด้านใหม่ๆของลพบุรี และพักค้างแรมที่ลพบุรี เป็นการช่วยทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร ตลอดจนชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจลพบุรีให้ดียิ่งขึ้นด้วย”
สำหรับภาพของอาจารย์เสรี มีหลายแง่มุม ตัวอย่างหนึ่งคือภาพศิลปะสะท้อนสังคม แฝงประเด็นของสังคมเข้ากับภาพศิลปะสีสันสดใส นอกจากความสวยงาม ต้องสะท้อนอะไรบางอย่างให้คนได้ฉุกคิด ฝากส่งต่อให้คนทั่วไปได้คิดและตระหนักถึงปัญหา เพื่อร่วมกันนำพาลพบุรีไปในทางที่ดีขึ้น
คุยกับเหล่าศิลปินหัวใจศิลปะกันหน่อย…
สุบรรณ สิมดี ศิลปินลพบุรีคนนี้ สะท้อนศิลปะ “สีสรรค์ลพบุรี” ผ่านรูปลิงแต่งแต้มสีสันหลากหลาย บอกเล่าถึงสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดที่ใครๆต่างนึกถึง ถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกมาท่องเที่ยว
ไทป์ สุริยะ แจ้งสว่าง เสนอความคิดว่า ลพบุรีไม่มีจุดตายตัว มีสีสันมากกว่าที่หลายคนคิด ผลงานของเขาถ่ายทอดผ่าน ลิงแสมเผือก ที่ดัดแปลงจากลิงแสมสีน้ำตาล สร้างเอกลักษณ์ขึ้นใหม่ เพิ่มเติมด้วยการใช้ Text ต่างๆ และ Font ต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ร่วม
กร สติกร ทองพบ ศิลปินกราฟิตี้ชาวสุราษฎร์ หมวกแดงอารมณ์ดี พรีเซนต์คอนเซ็ปต์ผสมผสานศิลปะเฉพาะตัว โดยนำคำขวัญประจำจังหวัดลพบุรีที่กล่าวว่า “วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์” ทำการคัดเลือกสัญลักษณ์ทั้งหมดออกมาถ่ายทอดเป็นภาพสมบูรณ์แบบ เรียกได้ว่า เป็นศิลปะเอกลักษณ์ที่เสมือนแคปชั่นทั้งจังหวัดลพบุรีได้นำมาใส่ไว้ในภาพอย่างครบถ้วน
พี่ยักษ์ (นามแฝง) ศิลปินกราฟิตี้ขาว-ดำ ชาวขอนแก่น ผู้มากับความเท่ ดุดัน สายเส้นคมชัด เข้าร่วมถ่ายทอด สีสรรค์ลพบุรีในสไตล์ที่ตนถนัด เลือกวาดภาพโดยบอกเล่าสีสันลพบุรีผ่านการออกแบบลายเส้นที่หลากหลาย วาดหนุมาน ทหารเอกของพระราม ซึ่งเป็นลิงเอกลัษณ์ของลพบุรี เพียงแต่อยากให้ออกมาในลักษณะของความเท่ มีความดุดัน เก่งกาจ ซึ่งสอดคล้องกับความชื่นชอบลายไทย จึงนำมาประยุกต์ใช้ เกิดเป็นหนุมานในอีกสไตล์หนึ่ง
เป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของอาจารย์เสรี แก้ววิเชียร และกลุ่ม Lopburui ที่สร้างสรรค์และสรรค์สร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นแก่สังคม นับเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่หัวใจยิ่งใหญ่ที่น่าชื่นชม
คุณค่าของศิลปะเกิดขึ้น เมื่อศิลปะสามารถสะท้อน เข้าถึงความรู้สึก แลบอกเล่าเรื่องราว สื่อสารออกไป พร้อมทั้งสร้างความสุขในแบบของมัน ส่งต่อรอยยิ้มให้กับผู้คนต่อๆไป
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดลพบุรี ห้ามพลาดเช็กอินแหล่งท่องเที่ยวใหม่สุดชิค สุดสตรีท จากกลุ่ม Lopburui ได้ที่บริเวณกำแพงประปาลพบุรี ซอยข้างโรงเรียนบรรจงรัตน์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจ facebook Lopburui
แสดงผล 5575 ครั้ง