ททท. เชิญผู้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศทัศนศึกษาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย หวังผลักดันให้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์สู่ตลาดโลก
เย็นวันนี้ (27 มีนาคม 2554) ณ โรงแรมเรเนซองต์ ถนนราชประสงค์ นางจุฑาพร เริงรณอาษา รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานงานเลี้ยงต้อนรับคณะผู้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จำนวน 23 คน จากต่างประเทศ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อทัศน-ศึกษาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 3 เมษายน 2554 ตามคำเชิญของ สำนักงาน ททท. ในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญในประเทศไทยที่มีความสวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถรองรับการถ่ายทำภาพยนตร์จากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
สำหรับคณะผู้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้กำกับการแสดง ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผู้ผลิต ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทชั้นนำ จากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ประเทศมาเลเซีย สหพันธรัฐรัสเซีย ราชอาณาจักรสวีเดน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยมีกำหนดเดินทางไปชมสถานที่ที่เหมาะแก่การถ่ายทำภาพยนตร์ในจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2554 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2554 โรงถ่ายกันตนา และห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงที่ได้มาตรฐานระดับสากล ในวันที่ 28 มีนาคม 2554
ททท. คาดว่า การจัดกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมให้ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ ครบวงจร ด้วยความพร้อมทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศได้ช่องทางหนึ่ง
ทั้งนี้ จากสถิติในปี พ.ศ. 2553 มีคณะผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเป็นจำนวนรวม 578 ราย โดยมีทีมงานจากประเทศอินเดียมากที่สุดถึง 128 ราย ญี่ปุ่น 123 ราย ยุโรป 91 ราย เกาหลี 41 ราย ฮ่องกง 24 ราย จีนและสหรัฐอเมริกา 22 ราย นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่น ๆ อีก คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.53 เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยแบ่งเป็นประเภทของชิ้นงานในส่วนของผลงานโฆษณา สารคดี มิวสิค วิดีโอ ภาพยนตร์เรื่องยาว และภาพยนตร์โทรทัศน์ คิดเป็นมูลค่ารายได้ที่เกิดจากการถ่ายทำในประเทศไทยทั้งสิ้น 1,896.15 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 108.19 เมื่อเทียบกับปี 2552
แสดงผล 1410 ครั้ง