ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวเทศกาล

นิทรรศการ มุมนอกสื่อนัย

ความงามของการสร้างสรรค์อันเป็นความจริง-เรื่องมนุษย์-ที่สอดคล้องกับโลกแห่งแบบ” การสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมในประเทศไทยในครั้งอดีต จนถึงปัจจุบันล้วน ได้รับแรงบันดาลใจ หรือรับใช้พุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น ซึ่งศาสนาพุทธไทยค่อนข้างเน้นในเรื่องของการหลุดพ้นของปัจเจกบุคคลก่อนที่จะเป็นสังคม หากแต่ปัจจุบันอาจมีเรื่องที่เป็นประเด็นส่วนตัว หรือเป็นสากลมากขึ้น แต่ก็ยากที่เหล่าศิลปินไทย จะแยกตัวตนออกจากพื้นเพของความเชื่อในทางศาสนาของเราได้

การตีความหมายของการมีชีวิต การใช้ชีวิตหรือการดำรงอยู่ ในเรื่องการทำดี เลว สุข ทุกข์ สิ่งดี หรือ ร้าย ล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ทั้งสองศิลปินนำเสนอ ผ่านแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แตกต่างไปด้วยภาพของความทุกข์ เพื่อให้ผู้คนฉุกคิดในสิ่งที่เราอาจเคยเผลอเลอไปกับสิ่งเลวร้ายที่ยั่วยุกิเลสให้หลงผิด ได้กลับมารู้เท่าทันกลเกมแห่งการหลอกลวงซึ่งจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราแตกต่างจากเดียรัจฉานได้อย่างสิ้นเชิงนั่นคือ การระงับยับยั้งชั่งใจ มิปล่อยให้ร่างกายล่องลอยไปกับสิ่งที่ทำให้ใจเป็นสุขแค่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ทั้งนี้อุทาหรณ์ในบทเรียนเรื่องศีลธรรมหรือตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างเป็นตัวสั่งสอนให้เกิดสติทั้งสิ้น และยังคงเป็นแนวทางของการดำเนินชีวิตต่อไป โดยมีปรัชญาพุทธเป็นอุบายในการกล่อมเกลาจิตใจให้ผู้ชมงานศิลปะได้ขบคิดหาทางออกในการดำเนินชีวิตอันเต็มไปด้วยอารมณ์ เรื่องราว สิ่งเร้าที่เข้ามาและจากไป วนเวียนเป็นเช่นนี้เรื่อยไป หากเราปล่อยตัวไปกับความไม่เที่ยงของทุกข์ สุข ในทุกๆขณะที่เข้ามากระทบไม่มีหยุดหย่อน เชื่อได้ว่าเราต้องพบกับความเหนื่อยหน่ายทางใจอย่างไม่มีวันจบสิ้น ปริศนาธรรมที่นำเสนอจะนำให้ผู้ชื่นชมผลงานได้นำไปคิดต่อถึงรูปแบบการใช้ชีวิตให้หลุดพ้นจากความเหนื่อยหน่าย นี่เองที่เป็นพลังอันทรงคุณค่าของผลงานที่ตั้งคำถามอันสูงสุดของการใช้ชีวิตเพื่อการเดินทางอย่างมีสติกับความงามที่เป็นตัวของมันเอง ความงามที่ผ่านจิตใจและการรับรู้ของคนดูอันเป็นความงามที่เป็นความจริงที่เกี่ยวเนื่องกับจินตนาการ
แสดงผล 1476 ครั้ง