ททท.อุบลฯ จัดอบรม “เจ้าบ้านที่ดี ... สามพันโบก”เตรียมพร้อมรับฤดูกาลท่องเที่ยว ของแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับยอดนิยม “สามพันโบก”
นางสาวยุพา ปานรอด ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี (ททท.สอบ.)
เปิดเผยว่า หลังฤดูฝนได้ผ่านพ้นไป และย่างสู่ช่วงฤดูหนาว แม่น้ำโขง แม่น้ำหัศจรรย์ที่มีต้นกำเนิดจากจากเทือกเขาหิมาลัย
ประเทศธิเบตมีความยาวทั้งสายกว่า 4,880 กิโลเมตร และเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างบ้านพี่เมืองน้องคือประเทศไทย และ
สปป.ลาว ทางภาคเหนือ และภาคอีสานของไทย เมื่อสายน้ำเริ่มลดระดับลง เผยให้เห็นความมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงในพื้นที่
จ.อุบลราชธานี คือ “สามพันโบก” แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดอุบลฯติดต่อกันมาหลายปี มีการพัฒนาบริการด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งมีความสมบรูณ์ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ ที่พักหรือรีสอร์ทใหม่ๆ การรวมตัวกันของชาวบ้านเป็นชมรมเรือของท้องถิ่นเพื่อให้บริการล่องเรือแก่นักท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ และเพื่อเป็นการเสริมสร้างการบริการของท้องถิ่นให้เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ตลอดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวระหว่างเดือน พ.ย.- พ.ค. ที่จะมาถึง ททท.สอบ. จึงได้จัดอบรมตามโครงการ “เจ้าบ้านที่ดี...สามพันโบก”
ในระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2554 ที่บริเวณสามพันโบก อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ด้วยการรวบรวมเยาวชนในพื้นที่ จำนวน 30 คน เข้าร่วมอบรมและรับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุติ เช่น อาจารย์เรืองประทิน เขียวสด ผู้ทรงความรู้เรื่องสามพันโบก อาจารย์ชาติชาย โพธิปัดชา ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงท่องเที่ยวมากว่า 20 ปี และคณาจารย์จากภาควิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ซึ่งการอบรมดังกล่าวนอกจากเยาวชนจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์ “สามพันโบก” แล้ว ยังได้รับการฝึกปฏิบัติในเรื่องเทคนิคการนำเสนอเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ที่มาเยี่ยมเยือน ทั้งยังได้ลงฝึกภาคสนามในพื้นที่จริง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และอาสาสมัครยุวมัคคุเทศก์ ที่ผู้มาเยือนทุกท่านจะได้รับความประทับใจกลับไป
ผอ. ททท.สอบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า แหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ต้องมาพร้อมกับบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพด้วย การจัดอบรมดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของบริการท่องเที่ยวในในพื้นที่สามพันโบกให้มีการการพัฒนาอย่างถูกทิศทาง เพื่อให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และมีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป สอดคล้องแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามตามแคมเปญ
“เที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน”