ททท. เน้นเที่ยวอย่างมีคุณค่า ชูบึงบอระเพ็ด สวรรค์ของนกน้ำ แหล่งดูนกชมธรรมชาติ
กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดนครสวรรค์ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ร่วมกันบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นในโครงการ “ดูนกชมบึงบอระเพ็ด” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งอาศัยความพิเศษของ “บึงบอระเพ็ด” หรือทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพแห่งหนึ่งในภูมิภาค ทั้งสัตว์น้ำและยังเป็นแหล่งอาศัยของนกอพยพอีกหลายสายพันธุ์ ที่เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ผู้สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตลอดจนกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปให้หันมาสนใจยิ่งขึ้น
โดยในเช้าวันนี้ (21 มกราคม 2555) ที่ห้องประชุมเสือพ่นน้ำ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ได้จัดแถลงข่าว “เที่ยวหัวใจใหม่ บึงบอระเพ็ด สวรรค์ของนกน้ำ” เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติ และครอบครัวอันเป็นรากฐานสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติในระยะยาว ทั้งนี้มีนายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รวมทั้งนายปองพล อดิเรกสาร ผู้เสนอแนวคิดให้ บึงบอระเพ็ดเป็นนครหลวงของนกน้ำ ได้แถลงข่าวร่วมกัน พร้อมทั้งได้จัดทริปนำร่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งมีสื่อมวลชน และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเอกชน ร่วมสัมผัสเสน่ห์ในการดูนกชมธรรมชาติกลางบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า “บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีต้นทุนทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนในพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญต่อการดูแลพื้นที่อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา ททท. มีขั้นตอนและวิธีการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในบริเวณบึงบอระเพ็ด โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกลุ่มผู้ให้บริการเรือนำเที่ยวที่จะเป็นเสมือนไกด์สื่อความหมายธรรมชาติ พานักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านกิจกรรมดูนกจากทางสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มาเป็นผู้ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริง รวมถึงการจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติเส้นทางดูนกศึกษาธรรมชาติบึงบอระเพ็ดแบบถาวรขนาดใหญ่ไปติดตั้งยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และจุดสำคัญต่างๆ”
นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เผยถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดโดยเฉพาะบึงบอระเพ็ด ซึ่งมีธรรมชาติเหมาะแก่การท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจโดยมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด คอยอำนวยความสะดวกรวมทั้งการจัดกิจกรรมรองรับในพื้นที่ เช่นเทศกาลประจำปี “เย็นดูดาว เช้าดูนก” ภายใต้แนวคิด Fun & Learning Camping ซึ่งเปิดให้เยาวชนได้มาเข้าค่ายพักแรม ล่องเรือชมนกกับมัคคุเทศก์น้อย ส่องกล้องดูดาว บึงบอระเพ็ด จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้อย่างดียิ่ง
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของกรมอุทยานฯ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ประกอบด้วยสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครอง มีการสำรวจพบ “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินทร” ที่เป็นสัตว์หายาก รวมทั้งพันธุ์สัตว์อื่น ๆ อาศัยอยู่ประมาณ 200 กว่าชนิด นอกจากนี้ยังมีอุทยานนกน้ำ เป็นพื้นที่ด้านทิศใต้ของบึงบอระเพ็ด จัดให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจะมีนกเป็ดน้ำและนกอพยพอื่นๆ จำนวนมาก ให้นักท่องเที่ยวได้ชมในราวเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปี
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด ทาง ททท. ยังได้จัดทำคู่มือภาพเพื่อจำแนกชนิดนก (Photographic Bird Guide) ซึ่งจะสามารถพบเห็นได้ในการมาศึกษาธรรมชาติที่นี่ โดยมอบให้ไว้แก่ผู้ให้บริการเรือพาเที่ยว นอกจากนี้ยังจัดทำคู่มือศึกษาธรรมชาติแบบพกพา ชื่อ คู่มือดูนกชมบึงบอระเพ็ด เพื่อเผยแพร่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่นี่ โดย ททท. เล็งเห็นว่า คู่มือดูนกชมบึงบอระเพ็ดนี้ เป็นเครื่องมือสื่อความหมายธรรมชาติ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่มายังบึงบอระเพ็ดสามารถเข้าถึงคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผ่านมุมมองของการเรียนรู้เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ต่างๆ ในธรรมชาติ ที่คู่มือได้นำเสนอ รวมทั้งกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ให้เกิดขึ้นขณะเที่ยวชม อย่างเช่นเรื่อง ความหลากหลายของสายพันธุ์นกในบึงบอระเพ็ด พฤติกรรมของนก ความเกี่ยวพันกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่น ฯลฯ ให้เข้าถึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครอบครัว ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองและเพื่อนฝูง สามารถนำเยาวชน และชักชวนเพื่อนฝูงมาร่วมกิจกรรมกันได้ อันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ในคุณค่า และก่อเกิดจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ในที่สุด
แสดงผล 1190 ครั้ง