ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวองค์กร

ททท.เปิดให้บริการ ห้องสมุดท่องเที่ยว “Tourism Library” ในรูปแบบใหม่ ทันสมัยรับยุคดิจิตอล เปิดคลังสมองเปิดมุมมองท่องเที่ยวไทย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ในฐานะหน่วยงานหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้เปิด “ห้องสมุดท่องเที่ยว” “Tourism Library” ในรูปแบบขอห้องสมุดเฉพาะของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งได้พัฒนาห้องสมุดท่องเที่ยวเดิมให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมเปิดให้บุคคลภายนอกนักเรียน-นักศึกษาเปิดใช้บริการได้แล้ว

นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท.  กล่าวว่า “ห้องสมุดท่องเที่ยว” ถือเป็นแหล่งรวมความรู้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ที่สุดโดยมีทั้งข้อมูลแบบเป็นเล่ม และทั้งสามารถสืบค้นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต http://tourismlibrary.tat.or.th โดยการให้บริการของห้องสมุดท่องเที่ยวจะครอบคลุมเรื่องเอกสารวิจัย วารสารเชิงวิชาการ นิตยสาร สารคดีท่องเที่ยว เอกสารแนวโน้มโลก พฤติกรรมผู้บริโภค โดยข้อมูลดังกล่าวมีทั้งในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ โดยห้องสมุดท่องเที่ยวแห่งนี้จะเป็นเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งททท.ได้เปิดให้บริการในรูปแบบของห้องสมุดเฉพาะตั้งอยู่ที่อาคารททท.สำนักงานใหญ่ เปิดให้บริการแก่พนักงานททท.และบุคคลภายนอก นักเรียน นักศึกษา  ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. โดยบรรยากาศของห้องสมุดท่องเที่ยวจะแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปที่ได้เห็นกัน มีการออกแบบให้บรรยากาศสดใสตามยุคสมัย

“ทั้งนี้ปัจจุบันพื้นที่ทางกายภาพที่เรียกว่า “ห้องสมุด” เริ่มมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง โดยเริ่มจากการมีพัฒนาการให้เป็นห้องสมุดเฉพาะ เช่น ห้องสมุดดนตรี ห้องสมุดด้านการออกแบบ ฯลฯ ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจ คือ การประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า “ห้องสมุดสมัยใหม่”  คือ ห้องสมุดที่ไร้หนังสือและกระดาษ บรรณารักษ์ หรือ Librarian ถูกเรียกขานในชื่อ Cybrarian  ภายใต้บุคลิกภาพใหม่ที่ว่องไว ทันสมัย รักในงานบริการเท่าทันการเปลี่ยนแปลง บทบาทของห้องสมุดจึงเริ่มเปลี่ยนจากการสืบค้นข้อมูลเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนแบ่งบันเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตเป็นห้องสมุดที่สร้างความสุข ซึ่งมีการพัฒนาจาก web 2.0 ถึง Library 2.0 จาก Modern Marketing ถึง Modern Library จาก E-Commerce ถึง E Library”

นอกเหนือจากเอกสารแล้ว  ททท.  ยังเตรียมจัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ  ต่อเนื่อง อาทิ การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานเสวนา โดยในปี 2555 กำหนดจัดในหัวข้อต่างๆดังนี้ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม(ป๊อป)ปรากฏการณ์  Popular Culture ที่ขับเคลื่อนกระแสการท่องเที่ยว โรงแรมศักดิ์สิทธิ์ (Hospitel) การทำโรงแรมให้เป็นวัด การทำโรงพยาบาลให้เป็นโรงแรม: จากมุมมองของสถาปนิก และ Health Me  เน้นเรื่องอาหาร (Food) เป็นหลัก โดยวิเคราะห์กระแสหนังสือที่เกี่ยวกับอาหาร ที่ดูจะชักแถวเปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆเป็นต้น

แสดงผล 1646 ครั้ง