ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวเทศกาล

“Art for the King เทศกาลศิลปะหัวใจใหม่ ตามรอยพ่อสู่ความสุขที่ยั่งยืน ททท.ชวน 9 สถาบันการศึกษา ร่วมเป็นตัวแทนแสดงความจงรักภีกดีต่อในหลวง ผ่านงานประติมากรรมของเยาวชนยุคใหม่ ในหัวข้อ“คำสอนของพ่อ สู่ความสุขที่ยั่งยืน”

นายสุรพล  เศวตเศรนี –ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการจัดงาน “Art for the King”  เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ในหลวงจะทรงมีพระชนมมายุครบ 84 พรรษา   ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการมหัศจรรย์ใต้ฟ้าพระบารมีของ ททท. พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์  การจัดงานและกิจกรรมนี้จึงเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังได้ดึงกลุ่มตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่จาก 9 สถาบันการศึกษา เข้ามามีสวนร่วมแสดงความรักภักดีต่อในหลวง  ผ่านการประกวดสร้างสรรค์ชิ้นงานประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ ภายใต้แนวคิด “คำสอนของพ่อ สู่ความสุขที่ยั่งยืน”   โดยจะตัดสินและมีกิจกรรมการแสดงอื่นๆ จากกลุ่มเยาวชน ในวันที่  18 กันยายน 2555 บริเวณลานน้ำพุ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล  และจะตั้งโชว์ต่อที่ลานอีเดนชั้น 3 เซ็นทรัลเวิร์ลจนถึงวันที่ 23 กันยายน 55  จากนั้นจะนำผลงานเหล่านี้ไปตั้งตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ของกรุงเทพฯต่อไป

เนื่องจากในปัจจจุบันเด็กวัยรุ่นไทยรับรู้เรื่องราวพระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวงไม่มากเท่าไหร่  ทำให้ขาดความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งเฉกเช่นคนไทยในวัยที่โตกว่า  ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งได้สนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย จึงได้ริเริ่มกิจกรรมที่จะทำให้เด็กวัยรุ่นไทยได้ซึมซับคำสอนของในหลวงและมีโอกาสได้แสดงความจงรักภักดีต่อในหลวงผ่านงานศิลป์ในรูปแบบ “ประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ”  ภายใต้แนวคิด “คำสอนของพ่อ สู่ความสุขที่ยั่งยืน”  เพื่อให้เยาวชนได้ทำการศึกษาเรื่องของในหลวงโดยลึกซึ้ง ก่อนที่จะตีความหมายคำสอนของท่านออกมาในรูปแบบงานประติมากรรมที่สวยงาม เสร็จแล้วเราจะมีการไปตั้งไว้ในสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอีกจุดดึงดูด ให้คนไปถ่ายรูปในขณะเดียวกันก็ให้เป็นเหมือนอนุสรณ์ตั้งเตือนใจให้ระลึกถึงสิ่งที่ในหลวงท่านสอน  โดยมี 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเป็นตัวแทนในการสร้างสรรค์ผลงานทั้ง 9 ชิ้น ขนาด 2.5 x 2.5 เมตร    ได้แก่   1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   3. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  4. สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์   5. มหาวิทยาลัยรังสิต   6. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 7. มหาวิทยาลัยศิลปากร   8. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  9. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์   แต่ละทีมมีระยะเวลา 1 เดือนในการผลิตชิ้นงาน   สุดท้ายจะมีการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ     คือ อาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน - ศิลปินศิลปาธร นักออกแบบ Carpenter Artist / คุณทวีศักดิ์ ศรีทองดี (โลเล) อาจารย์ด้านศิลปะและนักวาดภาพประกอบชั้นนำ  คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์โรงงานเครื่องเคลือบดินเผาเถ้าฮงไถ่  คุณพิชิต วีรังคบุตร หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรมสัมพันธ์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)  และ คุณพนิตนาฏ ฉัตรวิไล ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการศิลป์สโมสร “ART CLUB” ออกอากาศทางช่อง TPBS ทีมที่ชนะเลิศก็จะได้รับทุนการศึกษา พร้อมโล่ห์เกียรติยศและประกาศนียบัตร   โดยมี 4 รางวัลหลัก  คือ รางวัลยอดเยี่ยม  รางวันดีเด่น รางวัลสร้างสรรค์  และรางวัลขวัญใจมหาชน ซึ่งรางวัลนี้จะมาจากการโหวตผ่านทางเฟสบุ๊ค/artfortheking

โดยคอนเซ็ปท์และผลงานของแต่ละทีม มีดังนี้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     ชื่อผลงาน "เชิดชู"   แนวความคิด  "ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"  จาก พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ชื่อผลงาน "ทางของพ่อ"   แนวความคิด   “ประติมากรรมชิ้นนี้ประกอบขึ้นด้วยส่วนย่อยที่ยึดติดกันเกิดเป็นองค์ประกอบใหญ่ แบ่งได้เป็นสี่ส่วนใหญ่ๆ อันหมายถึงสี่ภาคของไทย โดยใช้สัญลักษณ์เป็นลวดลายพื้นเมืองของภาคนั้นๆ ซึ่งสี่ส่วนดังกล่าวไม่อาจตั้งอยู่ได้ หากไม่มีส่วนกลางคือพระมหากษัตริย์ และส่วนกลางเองก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้ หากส่วนย่อยต่างๆ ไม่เกื้อหนุนกันและกัน สี่ส่วนนั้นยังประกอบเป็นรูปขั้นบันได โดยแต่ละขั้นมีรอยเท้าของในหลวงที่นำทางไว้ รอยเท้านั้นก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงาม ผืนดินแห้งแล้งสู่ดินชุมชื้น จากเมล็ดพันธุ์เจริญงอกงามเป็น ความยั่งยืน ร่มเย็นเป็นสุข”

มหาวิทยาลัยรังสิต  ชื่อผลงาน "หลอดแห่งความคุ้มค่า"   แนวความคิด  “จากหลอดยาสีพระทนต์ของในหลวง ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อย่างคุ้มค่า จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในงานชิ้นนี้ ถึงการใช้ความคุ้มค่าด้านต่างๆ  เช่น การใช้เงินให้คุ้มค่า การใช้ทรัพยกรให้คุ้มค่า หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาให้คุ้มค่าไม่ปล่อยไปให้สูญเปล่า”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง    ชื่อผลงาน "จากฟ้าสู่ดิน เพื่อวิถีแห่งความสุข"   แนวความคิด  “จากคำสอนของในหลวงที่เปรียบเสมือนพ่อสูงสุดของปวงชนชาวไทยที่สอนพวกเราทุกคนให้เป็นคนดี ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ คำสอนของพ่อทำให้เรารู้จักกับคำว่าพอดี ข้าพเจ้าเล็งเห็นถึงความงดงามในคำสอนของพระองค์ ที่ดำรัสถึงเศรษฐกิจของความพอเพียง เป็นแนวทางพออยู่ พอกิน ที่ตั้งบนรากฐานของวิถีชนบท วัฒนธรรม ธรรมชาติแบบเรียบง่าย อบอุ่นเต็มเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา และความเข้าใจในการดำเนินชีวิตที่กลมกลืน ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ การทำมาหากิน การเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการดำรงชีวิต แสดงออกถึงความศรัทธาจากวิถีของความพอเพียงที่เป็นศักยภาพพื้นฐานของคนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่ดั้งเดิม”

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  ชื่อผลงาน "น้ำหล่อเลี้ยงชีวิต"    แนวความคิด  “{ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ธรรมมะและคำสอนของพ่อหลวง        ข้อหนึ่งว่า “ ขอบคุณข้าวทุกเม็ด น้ำทุกหยด อาหารทุกจาน อย่างจริงใจ       จึงนำเสนอเรื่องของน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยยังชีพอันยั่งยืน     ซึ่งคือ ข้าว เพราะข้าพเจ้าเห็นว่าพ่อหลวงของเราทรงเก่งเรื่องการจัดการ      ควบคุมน้ำเป็นอย่างมาก ถ้าเราจัดการเรื่องน้ำได้ดีเมื่อน้ำแล้งเรามีน้ำใช้      เมื่อน้ำมากเราก็กักเก็บน้ำไว้ได้”

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ชื่อผลงาน "ก้าวแรก"   แนวความคิด “ผลงานประติมากรรมที่สะท้อนถึงก้าวแรกในวัยเด็ก ภาพที่ในอดีตที่น่าจดจำจากคำสั่งสอนของพ่อ ย้อนไปสู่ช่วงวัยที่จะก้าวเดิน ภาพของพ่อผูกเชือกรองเท้าให้กับลูก สะท้อนให้เห็นถึงก้าวแรกของคำสั่งสอน ก้าวของแรกของการหัดเดิน เริ่มต้นมีล้มบ้าง ร้องไห้บ้าง แนวคิดและคำสั่งสอนจากพ่อที่เคยสอนยังคงเป็นแรงผลักดันไปสู่ การกล้าที่จะก้าว และก้าวต่อไปด้วยความหวัง ความมุ่งมั่น ก็สามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว มีย่างก้าวที่มั่นคง แข็งแรง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จุดเริ่มต้นจากคำสั่งสอนเพื่อไปสู่ก้าวแรกที่จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ก้าวต่อไปที่ยั่งยืน”

มหาวิทยาลัยศิลปากร   ชื่อผลงาน "น้ำพระทัย"    แนวความคิด  “ประชาชนในผืนแผ่นดินไทยมีความสุข อยู่อย่างพอเพียง อุดมสมบูรณ์และมีชีวิตที่มั่นคง เนื่องมาจากน้ำพระทัยที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต”

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง   ชื่อผลงาน "๙ มงคลชีวิต"  แนวความคิด  “ในหลวงทรงเป็นดั่งครูของประชาชนชาวไทย โดยมี ๙ คำสอนของพระองค์ เป็นดั่งไฟที่ส่องสว่างนำทางให้ลูกๆชาวไทยใช้ชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควร ตั้งตนอยู่ในความดีงาม โดยมีคำสอนของพ่อหลวงเป็นมงคลของชีวิต”

สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์   ชื่อผลงาน "โลกแห่งความสุข โลกแห่งพระบารมี"    แนวความคิด  “พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่คนไทยและชาวโลกได้ชื่นชมทำให้เกิดความสุขความประทับใจ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพระจริยวัตร ที่สง่างามกอปรกับพระราชกรณียกิจ ที่ทรงทุ่มเทเพื่อความสุขของคนไทย ทำให้เมื่อนึกถึงพระองค์ท่านและคำสอนของพระองค์จะเกิดความสุข ความภูมิใจ ขึ้นในใจของคนไทยทั่วทุกคน”

ในงานนอกเหนือจากจะมีนิทรรศการโชว์ผลงานประติมากรรมสื่อผสม 3 มิติ จาก 9 สถาบัน ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอื่นๆ  ที่เป็นไฮไลท์ในงานซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  โดย ร่วมชม Live Visual Art ที่โชว์ภาพเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวงผ่านการนำเสนอสไตล์ดิจิตัลมีเดีย   : เล่านิทานของในหลวงผ่านจินตนาการของศิลปิน ถ่ายทอดให้เยาวชนมีอารมณ์ร่วมกับภาพเคลื่อนไหว   ตามด้วย นักร้องประสานเสียงร้องเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” ร่วมกับศิลปินเดอะสตาร์ :ฮั่น-นท-ตูมตาม  พร้อมชมมินิคอนเสริต จาก the star มาให้ผู้มาร่วมงานฟังกันเพลินๆ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ  ที่แสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อในหลวงผ่านดนตรีแนวใหม่ ในแบบของตัวแทนผู้นำกลุ่มทางความคิดของวัยรุ่น Music battle ประชันกันระหว่าง Rapper    ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กับ   Beat Box: มิตร-แวน  ทำจังหวะโดยไม่ใช้เครื่องดนตรีสอดคล้องไปกับแร็ปสดๆ เพลง ”ด้วยเกล้า” ที่สร้างสรรค์มาเพื่องานนี้โดยพาะ ชมการแสดงนาฏยกรรมเงาประกอบเพลงแนวใหม่โดยทีมคิดบวกสิปป์-จากไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์

สำหรับประชาชนทั่วไป   สามารถเข้ามาร่วมสร้างสรรค์งานศิลป์ชิ้นใหญ่ (Installation) โดยการเล่นกิจกรรม สอดแทรกเรื่องราวของในหลวงและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง    อาทิ    
- ให้ความรู้กับคนที่ร่วมงานเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวสำคัญหลายแห่งที่ในหลวงทรงเสด็จไปปรับปรุงพื้นที่ สร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับประเทศ เช่นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวคือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรีและราชบุรี จนได้เป็นแหล่งท่องที่ยว Unseen Thailand    
-  ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในการแชร์ ไอเดียของสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทยโดยการร่วมกันเขียนบรรยาย, ระบายสี
- สร้างบรรยากาศให้คนที่เข้ามาในงาน ให้รู้สึกผูกพันกับการท่องเที่ยวและในหลวงโดยการให้ข้อมูลผ่านบนผืนผ้าใบขณะเดินอยู่ใน installation  เป็นต้น

แสดงผล 1174 ครั้ง