ททท. ร่วมกับ วัดโพธิ์ จัดงาน "สมโภชพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส" ๒๓ - ๒๕ มกราคมนี้ ณ วัดโพธิ์
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) จัดงาน “สมโภชพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณบูรพกษัตริย์ ๔ รัชกาลในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงขอเชิญชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศร่วมสักการะพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ และเรียนรู้หน้าประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ ขานรับปีท่องเที่ยววิถีไทย ๒๕๕๘
บ่ายวันนี้ (๒๓ มกราคม ๒๕๕๘) นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการ ททท. เป็นประธานในพิธีฉลอง“สมโภชพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส” โดยมี นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. อาจารย์คฑา ชินบัญชร แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมงานพิธี ณ วัดพระเชตุพนฯ
นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า "ในโอกาสที่รัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติให้ปี ๒๕๕๘ เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย โดยให้ความสำคัญและสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเซียและอาเซียน ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้หันมาเดินทางยังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ททท. ได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานตามรอยศรัทธา มหากุศล โครงการ "สมโภชพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส" ณ วัดพระเชตุพนฯ จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และตอกย้ำคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของวัด เนื่องจากวัดโพธิ์มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๕) และเป็นศูนย์รวมแห่งสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ งานศิลปกรรมสาขาต่าง ๆ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่รวบรวมภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้และสืบสานต่อไป ด้วยเหตุนี้ ททท. จึงสนับสนุนให้มีการจัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้มาท่องเที่ยวและสัมผัสประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์แบบวิถีไทย และกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นด้วย”
พระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า “การจัดงาน "สมโภชพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส" เป็นการย้อนอดีตการสร้างพระเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งแต่เดิมรัชกาลที่ ๓ โปรดให้สร้างทั้ง ๓ องค์ ต่อมารัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจดีย์ขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง รวมเป็นพระมหาเจดีย์ ๔ รัชกาล ด้วยเหตุที่ว่าทั้ง ๔ พระองค์ทันเห็นกันเป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกัน และเมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจดีย์ขึ้น โดยสร้างขึ้นตามแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้พระราชทานนามว่า พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ครั้นใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้มีพระราชดำรัสกับรัชกาลที่ ๕ เป็นการส่วนพระองค์ว่า "พระเจดีย์วัดพระเชตุพนฯ นั้น กลายเป็นใส่คะแนนพระเจ้าแผ่นดินไป ถ้าจะใส่คะแนนอยู่เสมอจะไม่มีที่สร้าง ควรจะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้น ท่านได้เคยเห็นกันทั้งสี่พระองค์จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน ต่อไปอย่าให้สร้างทุกแผ่นดินเลย" พระมหาเจดีย์ดังกล่าว มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๕ แต่สิ่งสำคัญที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ นั่นคือ มีพระพุทธรูปเป็นพุทธปฏิมาศิลปะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นพระราชนิยมในยุครัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เป็นรูปแบบศิลปะที่เป็นมนุษย์ธรรมดา พระเศียรไม่มีพระเกตุมาลา มีเพียงเปลวรัศมี และห่มจีวรเป็นธรรมชาติ พระพุทธรูปนี้เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้หล่อขึ้นเพื่อเตรียมบรรจุไว้ในพระเจดีย์ สันนิษฐานว่าฝีมือการหล่อเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ช่างหลวงที่มีความชำนาญในการหล่อพระพุทธรูป
“การจัดงานครั้งนี้ ได้มีปรารภเหตุว่า ททท. มีความประสงค์จะรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามาไหว้พระเสริมศิริมงคลในช่วงปีใหม่ ประกอบกับโครงการปีท่องเที่ยววิถีไทย ๒๕๕๘ ทางวัดพระเชตุพนฯ จึงยินดีสนับสนุนการจัดงาน "สมโภชพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส" ขึ้น และขอเชิญชวนให้คนทั่วไปได้เข้ามาไหว้พระและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดฯ สิ่งที่พิเศษในการนมัสการ คือ เมื่อครั้งบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์รัชกาลที่ ๔ เราได้อัญเชิญพระพุทธรูปลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์ เนื่องจากสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จากนั้นได้อัญเชิญไปไว้ที่หอสวดมนต์ และเมื่อได้โอกาสจึงจะอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานให้ประชาชนทั่วไปขึ้นไปกราบไหว้ แต่ทางขึ้นไปในองค์พระเจดีย์มีความยากลำบาก เนื่องจากมีช่องที่ลอดได้เฉพาะตัวคน ผู้ที่รูปร่างใหญ่อาจจะขึ้นไปลำบาก ดังนั้น การที่เปิดให้ได้ขึ้นไปกราบไหว้ ต้องมีศรัทธาและมีสุขภาพแข็งแรง จึงขอเชิญชวนให้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้เห็นความงดงาม ความอลังการของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในพระเจดีย์ เป็นสิ่งมหัศจรรย์และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญอย่างหนึ่งในวัดพระเชตุพนฯ ที่ควรจะมากราบไหว้ นอกจากพระพุทปฏิมาตามวิหารทิศ ตามพระอุโบสถ หรือวิหารพระนอน ที่เป็นพระพุทธรูปที่ท่านทั้งหลายมาสักการะอยู่เป็นประจำ จึงเป็นโอกาสพิเศษที่ท่านจะได้ไหว้พระพุทธรูปทั้งรัตนโกสินทร์" พระราชเวที กล่าวเพิ่มเติม
อาจารย์คฑา ชินบัญชร ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม พรีเซ็นเตอร์โครงการเที่ยว ๑๒ เดือนสุขใจให้พลังชีวิต ของ ททท. และนิสิตบัณฑิตวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า "พระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส องค์นี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง ในเจดีย์ ๔ รัชกาลที่สร้างขึ้นมานั้น เป็นการสร้างตามคตินิยม คือ เจดีย์นั้นหมายถึงสิ่งอันพึงระลึกถึง เป็นที่กราบไหว้บูชา และเป็นตัวแทนขององค์ผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อให้ระลึกถึงพระธรรมคำสอนเป็นการสืบทอดพระศาสนา ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ นั้น มีการนำพระศรีสรรเพชรมาจากกรุงศรีอยุธยาแล้วก็บรรจุไว้ในเจดีย์ จึงมีความเป็นไปได้ว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงได้ทำตามแบบอย่างพระอัยกา ดังนั้น พระพุทธรูปองค์นี้ที่พระองค์ทรงให้หล่อขึ้นนั้น สันนิษฐานได้ว่ามีความประสงค์ที่จะให้เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและจึงบรรจุไว้ในพระเจดีย์ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นจิตวิญญาณของชาติ ของแผ่นดิน ของประเทศไทย และของคนไทยทุกคน จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนมากราบไหว้ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างชาติ สร้างแผ่นดิน เป็นแหล่งรวมของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่าแท้จริง ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทุกสิ่งในยุคล่าอาณานิคม ด้วยพระปรีชาสามารถในการมองการณ์ไกลโดยทรงส่งให้บุตรหลานไปเล่าเรียนที่ชาติตะวันตกเพื่อให้รู้ทันถึงภัยของยุคล่าอาณานิคม และนี่คือดวงพระหทัยของผู้สร้างพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรมโมภาส"
งาน "สมโภชพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส" กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ มกราคม ๒๕๕๘ โดยในวันที่ ๒๓ มกราคม จะมีพิธีอัญเชิญแห่พระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรโมภาส ไปรอบวัดพระเชตุพนฯ จากนั้นจะเป็นพิธีอัญเชิญพระพุทธรังสีสุริโยทัยธรรมโมภาสขึ้นไปประดิษฐานบนพระเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย โดยมีพระสงฆ์จากพระอารามต่าง ๆ มารวมกันเจริญพระพุทธมนต์ เจริญชัยมงคลคาถา บรรยากาศการจัดงานเป็นการย้อนยุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รศ.๗๒ มีตลาดโบราณ การแสดงมหรสพต่าง ๆ ได้แก่ โขน การแสดงในยุครัตนโกสินทร์ เป็นต้น ผู้สนใจเข้าร่วมงานได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย ๑๖๗๒ หรือ www.thaifest.org
แสดงผล 1531 ครั้ง