ททท. สรุปทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวของไทยปี ๒๕๕๙ เน้นมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ททท. ตั้งเป้าปี ๕๙ ขานรับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก พร้อมยกระดับภาพลักษณ์ “ควอลิตี้ เลเชอร์ เดสติเนชั่น” เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว โดยใช้วิถีไทยเป็นจุดขาย ควบคู่คุณภาพ สร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของประเทศ
เย็นวันนี้ (๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘) ที่ห้องเพลนารี ฮอลล์ ๒ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดประชุมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หน่วยงานผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนโดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการ ททท. แขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ผู้บริหารและพนักงาน ททท. เข้าร่วมเพื่อรับฟังทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. ปี ๒๕๕๙ ซึ่งผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๗ ตั้งแต่การยกร่างเป้าหมายองค์กร กรอบงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ททท. และในระหว่างปี ๒๕๕๘ มีการประชุมคณะกรรมการกำกับและวางนโยบายแผนปฎิบัติการ เพื่อกำหนดกรอบแนวคิด มีการประชุมภูมิภาคตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ การประชุมโฟกัสกรุ๊ปกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการระดมความคิดเห็นและรวบรวมข้อเสนอแนะเบื้องต้นเข้าสู่ที่ประชุมแผนปฏิบัติการ ททท. ระหว่างวันที่ ๒๙ มิถุนายน – ๒ กรกฎาคม ณ ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จังหวัดชลบุรีที่ผ่านมา
นางจุฑาพร เริงรณอาษา รองผู้ว่าการด้านยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางและอเมริกา รักษาการผู้ว่าการ ททท. ได้นำเสนอสรุปกระบวนการจัดทำแผนการท่องเที่ยวของ ททท. จะมีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนวิสาหกิจ ททท. พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๕๙ (ฉบับทบทวน ปี ๒๕๕๙) ข้อมูลการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในที่สำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของ ททท. ทั้งยังนำนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีคุณภาพ กระจายรายได้และทำให้คนรักประเทศไทย รวมถึงนโยบายของประธานกรรมการ ททท. ที่เน้นเรื่องการดูแลความปลอดภัย สุขอนามัย สร้างความร่วมมือ การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด คำนึงถึงห่วงโซ่อุปทานและการบริหารจัดการเชิงคุณภาพมาแปลงสู่การปฎิบัติมากยิ่งขึ้น
ในปีหน้า จะเป็นก้าวใหม่แห่งการส่งเสริมตลาด ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการท่องเที่ยวซึ่งผ่านคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติแล้ว โดย ททท. จะเน้นผสานความร่วมมือด้านการตลาดอย่างเป็นองค์รวมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เพื่อช่วยกันยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยมุ่งสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน (Quality Leisure Destination through Thainess) ภายใต้เป้าหมายอัตราการเติบโตของรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ ทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ ประมาณเม็ดเงิน ๒.๓ ล้านล้านบาท
ทิศทางการส่งเสริมตลาดต่างประเทศของ ททท. ในปี ๒๕๕๙ จะดำเนินการภายใต้ ๕ กลยุทธ์หลักได้แก่ กลยุทธ์ปรับภาพลักษณ์และขยายการรับรู้คุณค่า Happiness You Can Share กลยุทธ์สร้างสรรค์สินค้าเชิงคุณค่า กลยุทธ์ขยายการตลาดกลุ่มความสนใจพิเศษ กลยุทธ์กระตุ้นการใช้จ่ายกลุ่มตลาดระดับกลางและระดับบน กลยุทธ์ส่งเสริมจุดขายที่แตกต่างเชื่อมโยง AEC เพื่อให้มีรายได้จากวิถีไทยซึ่งเป็นจุดขายที่แตกต่าง โดยจะสื่อสารเน้นสร้างเรื่องราว Discover Amazing Stories ที่สะท้อนความเป็นไทยให้เกิดการมีส่วนร่วม และขยายการรับรู้คุณค่า บอกต่อ การนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวเน้นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างสรรค์สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วม รวมทั้งมีการทำตลาดอย่างมีโฟกัสที่ชัดเจนเพื่อความได้เปรียบเชิงการแข่งขันและมองเป้าหมายการทำงานที่ตอบสนองแผนวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่าเงินลงทุนและเชื่อว่าจะเป็นการรักษาระดับการเติบโตของรายได้ให้อยู่ในอันดับ ๑ ใน ๓ ของเอเชีย
ขณะที่การส่งเสริมตลาดในประเทศ จะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์หลักๆ ได้แก่ กลยุทธ์สร้างกระแสความรัก ภาคภูมิใจในความเป็นไทย กลยุทธ์กระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ กลยุทธ์กระจายพื้นที่และช่วงเวลา เน้นการกระจายตัวในพื้นที่เมืองรอง การกระจายตัวในช่วงเทศกาล วันธรรมดาและนอกฤดูกาล เจาะกลุ่ม คนรุ่นใหม่(Young Generation - Gen Y) กลุ่มคู่แต่งงานที่ยังไม่มีบุตร (Double Incomes No Kids – DINKs) กลุ่มสตรี และผู้สูงวัย เพื่อเพิ่มสัดส่วนการเดินทางในวันธรรมดาไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๓๓ และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มกระแสหลัก ครอบครัว – เยาวชน โดยจะสื่อสารกระตุ้นทุกกลุ่มตลาดให้ออกเดินทางจริงผ่านคุณค่าของ ๕ ภูมิภาคเพื่อค้นหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ต่อยอดการกระจายตัวสู่การท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองตามพื้นที่ท่องเที่ยวโดยผนวกเส้นทางเชื่อมโยงกับ ๑๒ เมืองต้องห้าม...พลาด ซึ่งได้กระแสตอบรับอย่างดีจากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ต่อยอดแนวคิด “7 greens concept” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ในมิติของการสร้างสมดุลที่ยั่งยืน
แสดงผล 1883 ครั้ง