2 กระทรวงจับมือจังหวัดภูเก็ต แถลงความสำเร็จโครงการนำร่อง Villa Quarantine เรียกความเชื่อมั่นให้คนพื้นที่และนักท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน
เช้าวันนี้ (10 มีนาคม 2564) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และนายวรสิทธิ อิสสระ กรรมการผู้จัดการโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงความสำเร็จของโครงการนำร่อง Villa Quarantine ในพื้นที่โรงแรมศรีพันวา ซึ่งได้รับนักท่องเที่ยวกลุ่มแรก จำนวน 58 คน และผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ พร้อมต่อยอดไปยังผู้ประกอบการ ที่สนใจ ณ โรงแรมศรีพันวา จังหวัดภูเก็ต
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กก. กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จังหวัดภูเก็ต และโรงแรมศรีพันวา จัดทำโครงการนำร่อง Villa Quarantine ในพื้นที่โรงแรมศรีพันวา จังหวัดภูเก็ต โดยรับนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางท่องเที่ยวจากประเทศอินโดนีเซียมายังประเทศไทย ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ จำนวน 58 คน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา และได้รับหนังสือรับรองการกักกันครบตามระยะเวลาที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว พร้อมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นถึงระบบการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนในพื้นที่ เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวครั้งสำคัญ
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต มีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ยังคงชื่นชอบความสวยงามของทะเลและอยากเดินทางมา ซึ่งมีมาตรการเพื่อรองรับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอย่างรัดกุม รอบคอบ ได้แก่ ช่องทางอากาศ ผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยใช้มาตรการ ALQ (Alternative State Quarantine) และ OQ (Organizational Quarantine/Villa Quarantine) สำหรับผู้เดินทางที่เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยวหรือพำนักระยะยาว เป็นสถานที่กักกันตัวเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ช่องทางเรือ จุดจอดเรือชั่วคราวอ่าวปอ โดยใช้มาตรการ AYQ (Alternative Yacht Quarantine) สำหรับผู้เดินทางที่เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยวหรือพำนักระยะยาวโดยใช้สถานที่บนเรือสำราญ เรือยอร์ช เป็นสถานที่กักกันตัวเพื่อการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมที่ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นโรงแรม ALQ 24 โรงแรม และโรงแรมที่ได้รับการตรวจประเมินมาตรฐานขึ้นทะเบียน OQ 1 โรงแรม ทั่วเกาะภูเก็ต รวม 2,752 ห้อง โดยมีโรงพยาบาลคู่สัญญาทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลฉลอง โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ระหว่างกักกันและกรณีหากเกิดอาการป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญา นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตยังรองรับ AHQ (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับกักกันผู้ป่วยทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล เอกชนที่กำหนด ซึ่งต้องมีการนัดหมายไว้แล้วล่วงหน้ากับโรงพยาบาล มีทั้งหมด 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์
ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตมีผู้เดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรและเข้ารับการกักกันที่โรงแรม ALQ ยอดสะสมทั้งสิ้น 252 ราย โดยอยู่ระหว่างกักตัวตามมาตรการ 14 ราย และกักตัวบนเรือ AYQ ยอดสะสมทั้งสิ้น 118 ราย อยู่ระหว่างกักกันบนเรือ 19 ราย และกักกัน ที่ OQ 58 ราย ซึ่งครบระยะเวลากักตัวตามมาตรการแล้วทั้งหมด อีกทั้ง จังหวัดภูเก็ต ยังมีแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 68,000 โดส (34,000 คน) แบ่งเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม ซึ่งฉีดให้กับบุคลากรแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ร้านยา คลินิกทันตกรรม อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้ที่มีโรคประจำตัว สถานประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม มัคคุเทศก์ การท่องเที่ยว สถานบันเทิง ร้านนวด สปา ร้านสะดวกซื้อ และภาคประชาชนทั่วไป
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท. ได้รับอนุญาตจากกรมควบคุมโรค ให้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ศรีพันวา แมเนจเมนท์ จำกัด (ผู้บริหารโรงแรมศรีพันวา) เป็นสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนดรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine: OQ) ประเภท ข. ในลักษณะ Villa Quarantine พร้อมกำหนดให้ ททท. เป็นผู้ติดตาม กำกับ และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของ บริษัท ศรีพันวาฯ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และให้ดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคแบบเฉพาะอย่างเคร่งครัดโดยกักกันไม่น้อยกว่า 14 วัน ทั้งนี้ ใน 5 วันแรก ห้ามนักท่องเที่ยวออกนอกห้องพัก จนกว่าจะได้รับการตรวจ Swab ครั้งที่ 2 (Day 5) และไม่พบเชื้อ จึงจะสามารถออกมาทำกิจกรรมแบบผ่อนคลายโดยไม่สัมผัสตัวกันทั้งกลุ่มประเทศเดียวกันและระหว่างประเทศ (ทั้ง Direct and Indirect Contact) มีการวางแผนการทำกิจกรรม พร้อมจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) ในด้านต่าง ๆ และ SOP กิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ ภายใต้มาตรการการบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ 5 กิจกรรม คือ การใช้ห้องอาหาร (อาหารกลางวันและอาหารเย็น) เทนนิส ฟิตเนส ชายหาด และการเดินภายในบริเวณที่กำหนด โดยเน้นมาตรการ “สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล” กำหนดพื้นที่สำหรับการพักและจัดกิจกรรมอย่างชัดเจน (bubble area) โดยแบ่งเป็นพื้นที่ภายในพื้นที่กักกัน (พื้นที่สีแดง / in-bubble) และภายนอกพื้นที่กักกัน (พื้นที่สีเขียว/out-bubble) ในส่วนของพนักงานของโรงแรมศรีพันวาที่ให้บริการนักท่องเที่ยวโดยตรง และผู้ติดตามทางการแพทย์และควบคุมโรค (Observation Team for Disease Prevention : OTDP) เป็นผู้ถูกกักกันร่วม (อยู่ใน Bubble) จำนวนรวม 150 คน โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจำนวน 58 คน และพนักงานโรงแรมศรีพันวาและทีมงานจำนวน 92 คน นอกจากนี้ ยังมีส่วนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแล และพนักงานของโรงแรมศรีพันวา ในส่วนสนับสนุนการบริการ จะทำงานภายนอกพื้นที่กักกัน และจัดให้มีกลไลการติดตามประเมินผลการทำงานรายวัน โดยกำหนดประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) ร่วมกันระหว่างทีมสังเกตการณ์ภายใน (COVID Manager & Team + OTDP) และทีมสังเกตการณ์ภายนอก ซึ่งติดตามผ่านกล้อง CCTV (สสจ. สคร. ททท. ส่วนกลาง ททท. สำนักงานภูเก็ต) ทุกวันเวลา 13.00 น.
ทั้งนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว ได้รับหนังสือรับรองการกักกันครบตามระยะเวลาที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว ได้วางแผนที่จะอยู่ในประเทศไทยอีกประมาณ 1 เดือน โดยยังคงพักอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และมีความสนใจเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดพังงา กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา และเชียงใหม่ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท จากความสำเร็จของการดำเนินการ Villa Quarantine ในครั้งนี้ จะสามารถนำมาปรับใช้กับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนเป็นแนวทางในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย
แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า Villa Quarantine ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ กรมควบคุมโรค อนุญาตให้ ททท. เป็นหน่วยจัดตั้ง Organizational Quarantine ประเภท ข. ในลักษณะ Villa Quarantine มีเป้าหมายให้สามารถจัดกิจกรรมได้ตามวัตถุประสงค์ และป้องกันการระบาดในสถานกักกันที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อสู่ชุมชน มีการพักรวมเป็นกลุ่มและใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยได้กำหนดขอบเขตของ Bubble Area และแบ่งการบริหารจัดการพื้นที่ออกเป็น 2 โซน ได้แก่ พื้นที่สีแดงหรือ In Bubble ที่มีนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่รวม 150 คน กักตัวร่วมกัน 14 วัน มีการตรวจ Swab COVID – 19 จำนวน 3 ครั้ง และพื้นที่สีเขียว Out Bubble ที่สนับสนุนการปฏิบัติงานพื้นที่ In Bubble รวมถึงจะต้องมีการแต่งตั้ง COVID Manager ทำหน้าที่หลักในการบริหารจัดการ Bubble Area มีการติดตาม กำกับ การดำเนินงานให้เป็นไปตาม SOP ที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
นายวรสิทธิ อิสสระ กรรมการผู้จัดการ ศรีพันวา ภูเก็ต กล่าวว่า การบริหารจัดการ Villa Quarantine โรงแรมศรีพันวา หลังจากยื่นเสนอเป็นโครงการนำร่อง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในโรงแรม การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และการสร้างความเข้าใจที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบ ซึ่งครบกำหนดกักตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยคนใน bubble ทั้งหมด ประกอบไปด้วย ลูกค้า 58 คน พนักงานโรงแรมศรีพันวา 90 คน และทีมงานจากภาครัฐ 2 คน ผ่านการตรวจ Swab test ทั้งหมดคนละ 3 ครั้ง ซึ่งผลออกมาเป็นลบทุกคน หากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการและเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบนี้ได้เพิ่มขึ้นภายใต้มาตรการที่กำหนด เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการเตรียมแนวทางในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะเริ่มจากการจัดทำ Area Quarantine ในเดือน เมษายน - พฤษภาคม 2564 โดยเริ่มนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน) เชียงใหม่ และชลบุรี (พัทยา) เนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในระยะยาว 1-3 เดือน และยังได้ผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ พนักงานโรงแรมและบริการท่องเที่ยวใน 4 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ จำนวน 50,000 โดส โดยจะฉีดให้พนักงานโรงแรมที่เข้าร่วมเป็น Area Quarantine ก่อน และมีแผนในการจัดหาวัคซีน ล็อตสองที่จะเข้ามายังประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนจำนวน 5 ล้านโดส สำหรับประชากร 2.5 ล้านคนใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จังหวัดกระบี่ และ 4 จังหวัดข้างต้น เพื่อเตรียมมาตรการท่องเที่ยวแบบ Vaccine Passport ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นและทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวอย่างมั่นคง
แสดงผล 1337 ครั้ง