ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวเศรษฐกิจ

ททท. ชี้แจงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในไตรมาส 3/64

ตามที่ ได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจโดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ม.หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจราว 2-3 แสนล้านบาท และอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีลดลงไปอีก 1.2.-1.8% ซึ่งได้มีการเผยแพร่ใน voicetv.co.th/read/6MVWdnI8p เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 1. ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้

 2. เร่งฉีดวัคซีน โดยให้เอกชนร่วมจัดหา และควรให้ประชาชนได้ฉีดถึง 50% ภายในไตรมาสที่ 2-3 เพราะจะช่วยผลักดันความเชื่อมั่นของประชาชนให้เริ่มการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุน

 3. การกระตุ้นเศรษฐกิจควรเร่งดำเนินการในช่วงปลายเดือน พ.ค. หรือควรมีเม็ดเงินเติมลงไปในระบบ 2-3 แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นได้ เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 3

 4. ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายในไตรมาสที่ 3

 5. เร่งใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 6. ดูแลค่าเงินบาทหรือให้ทรงตัวอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนส่งออก  นั้น

 

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้อง (ข้อ 4 ) ดังนี้

ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายในไตรมาสที่ 3

การฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เน้นการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการผลักดันการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว   ชาวไทยที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม อาทิ เน้นการท่องเที่ยวระยะใกล้ จำนวนวันในการเดินทางสั้นลง ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น มีการเว้นระยะห่าง ไม่ไปในที่แออัด ฯลฯ ททท. จึงได้มีการปรับจุดเน้นของกลยุทธ์ส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวในประเทศ โดยเน้นการเพิ่มความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ภายในภูมิภาค การท่องเที่ยวตาม Lifestyle ของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เกิดการกระจายตัวการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในแง่ของพื้นที่ และช่วงเวลา โดย

  1. สร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการกระตุ้นการเดินทางเข้าพื้นที่ แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1. กระตุ้นคนจากกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และ 2. กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด อาทิ โครงการ Unseen New Series กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านการสร้างสรรค์เรื่องราวของสินค้าบริการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม”  โครงการ The Best Selfie in Thailand กระตุ้นการออกเดินทางท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอ 100 Selfie Spot ที่ห้ามพลาด สร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวผ่านภาพถ่าย Selfie ภายใต้แนวคิดต่าง ๆ ได้แก่ The Best Romantic Selfie in Thailand, The Best Unseen Selfie in Thailand และ The Best Art & Culture Selfie in Thailand โดยเสริมแนวคิดการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Tourism) รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย (EXPAT) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวของประเทศไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง อาทิ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬากอล์ฟในกลุ่มชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ผ่านทางโครงการ “STAY PLAY SAFE” ซึ่งเป็นการเชิญคณะทูตานุทูตและหอการค้าของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมกอล์ฟ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety and Health Administration : SHA และสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยปลอดภัย พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย ร่วมทั้งจะมีการจัดกิจกรรม AMAZING THAILAND EXPAT GOLF TOURNAMENT SERIES 2021 เพื่อกระตุ้นการเดินทางข้ามภูมิภาคของกลุ่ม EXPAT ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 คลี่คลายลง

       นอกจากนี้ ททท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับหอการค้าไทยและ    สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันที่ส่งผลให้ไทยยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จึงต้องเร่งกระตุ้นในเกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเน้นดึงกลุ่มนักท่องเที่ยว 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนไทยที่นิยมเที่ยวต่างประเทศ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำงานในไทย หรือ EXPAT และกลุ่มสัมมนาภาครัฐ ผ่านกลุ่มเครือข่ายสมาชิกหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และ YEC สมาคมการค้าหอการค้าต่างประเทศ ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวยังรวมถึง   การเชื่อมโยงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ สายการบิน ผู้ประกอบธุรกิจในภูมิภาค เพื่อร่วมกันสร้างกลยุทธ์กระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น การจัดกิจกรรม “ชวนหอเที่ยว” เชิญชวนสมาชิกหอการค้าและเครือข่าย ให้เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมาย อาทิ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งได้ในอนาคต 

  1. เน้นจัดกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นเป็นหลัก และปรับเปลี่ยนรูปแบบ กิจกรรมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) อาทิ การจัดกิจกรรมตามวันหยุดประจำภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ วันที่ 10 พฤษภาคม ณ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ และขอนแก่น  

  2. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยววันธรรมดา เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา โดยส่งมอบคุณค่าการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาที่สะดวก สบาย ไม่แออัด ได้รับบริการเต็มที่ เน้นความพิเศษที่ได้รับจากการท่องเที่ยววันธรรมดา

  3. ใช้โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการเดินทางในประเทศทั้งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยทั้งสองโครงการจะเริ่มเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ “กำลังใจ” (ดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 – มกราคม 2564) สร้างรายได้สู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1,400 ล้านบาท และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1-2” ข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน 2564 ประมาณการรายได้ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทางตรง 24,000 ล้านบาท รวมทั้งสองโครงการก่อให้เกิดการสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท

 

สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบภายใต้มาตรการการกำกับดูแลและควบคุมอย่างเคร่งครัดของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการเดินทางเป็นอย่างมาก อาทิ มาตรการการสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล มีการดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวคณะหรือกลุ่มนักท่องเที่ยวพิเศษในรูปแบบ Special Arrangement (Area Quarantine – Organizational Quarantine / OQ) ยึดหลักเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และ ศบค. เป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้นที่ประเภท Organizational Quarantine (OQ) ให้มีลักษณะมีความสุขและยังคงมาตรฐานความปลอดภัยด้วย ภายใต้ชื่อ “Amazing Thailand Happy Quarantine” เช่น Area Quarantine, Villa Quarantine, Golf Quarantine, Wellness Quarantine และ Sport Quarantine

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ในที่ประชุม ศบศ. คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน 2564)

เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) โดยไม่กักตัว ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

- นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้รับวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจโควิด-19 บินตรงเข้า จ.ภูเก็ต และตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง โดยไม่ต้องกักตัว และต้องอยู่ใน จ.ภูเก็ต หรือพื้นที่นำร่อง (Sealed route) อย่างน้อย 7 คืน ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ

- ใช้มาตรการป้องกันควบคู่ เช่น Vaccine Certificate และแอปพลิเคชันแจ้งเตือน

เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพื้นที่นำร่องอื่น ๆ ได้แก่ กระบี่ พังงา เกาะสมุย ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ โดยต้องกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 7 คืน (0+7 คืน) + Sealed route ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

- ตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง

- ใช้มาตรการป้องกันควบคู่ เช่น Vaccine Certificate และแอปพลิเคชันแจ้งเตือน

               

ช่วงไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2564)

เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ โดยไม่กักตัว ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

- นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้รับวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจโควิด-19 บินตรงเข้าพื้นที่ และตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง โดยไม่ต้องกักตัว และต้องอยู่ในพื้นที่นำร่องอย่างน้อย 7 คืน ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ

- ใช้มาตรการป้องกันควบคู่ เช่น Vaccine Certificate และแอปพลิเคชันแจ้งเตือน

 

หมายเหตุ : กักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 7 คืน โดยสามารถออกนอกห้องพัก และออกไปทำกิจกรรมใน Sealed route ที่กำหนดได้ หลังจากกักตัว 7 คืน สามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยได้

            พื้นที่นำร่อง คือพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ เป็นที่รู้จักระดับโลก รวมถึงพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในระดับสูง ประกอบกับมีความพร้อมของสนามบินนานาชาติและโรงแรมที่พัก

 

นอกจากนี้ ททท. ได้ดำเนินโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety and Health Administration : SHA ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมีความมั่นใจในสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวให้ปรับตัวรองรับการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่สมัคร SHA มากกว่า 10,000 แห่ง และได้รับการตรวจผ่านมาตรฐานแล้วมากกว่า 8,000 แห่ง ซึ่งขณะนี้มาตรฐาน SHA ได้รับการยกระดับและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดย World Travel & Tourism Council   : WTTC ได้ให้การรับรองสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA ให้ได้มาตรฐานของ Safe Travels ควบคู่กันได้ เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดต่อไป

 

แสดงผล 3719 ครั้ง