ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวกิจกรรม

ททท. ร่วมกับ ม. ศิลปากร เชิญชวนประชาชนออกแบบคอนเทนท์แหล่งท่องเที่ยวส่งผลงานเข้าประกวดชิงรางวัล

บ่ายวันนี้ (13 พฤษภาคม 2564) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ททท. และคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมแถลงข่าวโครงการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย หรือ Creative Content Creation for Thailand Tourism Promotion โดยถ่ายทอดการแถลงข่าวผ่านช่องทาง www.facebook.com/sneakoutclub

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบวิถีปกติใหม่ (New Normal) คือ เลือกวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และศึกษาข้อมูลก่อนการเดินทางท่องเที่ยว โดยรัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหลากหลายมาตรการ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว ดังนั้น ททท. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรดำเนินงาน โครงการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (Creative Content Creation for Thailand Tourism Promotion) มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบที่หลากหลายด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด เพื่อตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป สร้างคุณค่าและกระจายการเดินทางท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และช่วงเวลา ก่อเกิดรายได้จากการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง BCG Model ซึ่งโครงการดังกล่าวแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

1. การผลิตเนื้อหา (Content) โดย  นำทรัพยากรทางวิชาการของมหาวิทยาลัยศิลปากร มาสร้างสรรค์คุณค่าและองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย สนองการตลาดแบบรู้ใจ (Personalize Tourism) ตามประเภทสินค้าทางการท่องเที่ยวยอดนิยม 6 หมวด ได้แก่ พื้นที่วัฒนธรรม ทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ แฟชั่น และอาหาร 


2. การจัดประกวดเนื้อหาสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยเชิญชวนให้ภาคประชาชนส่งผลงานภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอจากการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งที่เป็นปัจจุบันหรือช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงประชาชนในแต่ละท้องถิ่นที่จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ จังหวัด และภูมิภาค ประกอบการจัดทำ Content แหล่งท่องเที่ยว 3 หัวข้อ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวโครงการพระราชดำริ และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและการผจญภัย ซึ่งกิจกรรมนี้จะสามารถสร้างความสุขและผ่อนคลายให้คนไทยได้ในสถานการณ์ที่ยังไม่เหมาะสมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวออนไลน์ในการบอกเล่าและแบ่งปันประสบการณ์ โดยเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ Facebook ของแต่ละคน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มีความยินดีในความร่วมมือกับ ททท. ซึ่งโครงการนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการท่องเที่ยว โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งงานวิจัย องค์ความรู้ กิจกรรมสร้างสรรค์ของนักศึกษา คณะครูอาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์ Content ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย สนองการตลาดแบบรู้ใจ (Personalize Tourism) โดยคำนึงถึงภาพลักษณ์และคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม ศิลปะ การออกแบบ และการบริการ เพื่อความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว และการประกวดเพื่อสรรหา Content ท่องเที่ยวจากภาคประชาชนจะถูกรวบรวมเป็นคลังข้อมูลออนไลน์ หรือ Crowdsourcing เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมทางการตลาดยุคปัจจุบันที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดมากที่สุดอีกด้วย

 

สำหรับการประกวดเนื้อหาสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย สามารถส่งผลงานเข้าประกวดทั้ง 3 หัวข้อแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวโครงการพระราชดำริ และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและการผจญภัย โดยการตัดสินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทรางวัล คือ

1. รางวัลยอดนิยม (Popular Awards) 3 รางวัล จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้ง 3 หัวข้อ โดยการโหวตคะแนนมหาชนผ่านสื่อออนไลน์ Facebook

2. รางวัลยอดเยี่ยม (Excellent Awards) ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ รองอันดับ 1 และ 2 ของผลงานที่ส่งเข้าประกวดแต่ละหัวข้อแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ผลงานที่ได้ชนะการตัดสินแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัล บัตรกำนัลที่พัก และของที่ระลึกจาก ททท.  ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tourismthailand.org/travelcontentcontest หรือ โทร. 1672 เพื่อนร่วมทาง

แสดงผล 1792 ครั้ง