ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวอื่นๆ

8 องค์กรพันธมิตร จาก 3 กระทรวง บูรณาการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุน การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน

กรุงเทพฯ  (10 กันยายน 2564) :  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) ภายใต้โครงการคาร์บอนบาลานซ์ (Carbon Balance Scheme) 

งานลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือโครงการคาร์บอนบาลานซ์ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 8 องค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)  หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเว้นท์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) ให้กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชุมชนท่องเที่ยว นักเดินทาง นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบต่อโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยลดโลกร้อน 

บทบาทที่ทั้ง 8 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ ภายใต้โครงการ คาร์บอนบาลานซ์ ได้แก่ (1) ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่เหมาะสมกับบริบทของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย (2) สนับสนุนให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยว กิจกรรม บริการ และนวัตกรรม ที่จัดการด้วยแนวคิดนี้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดงานไทย (3) ส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวไทยและการจัดงานไมซ์ให้มีการนำแนวทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปใช้ในการจัดการและเข้าถึงแนวทางการออกแบบและสามารถชดเชยคาร์บอนได้โดยสะดวก (4) ร่วมดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินงานร่วมกันของ 8หน่วยงาน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ในไทย ให้มีการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ อันจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยในตลาดสากล นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป 

แสดงผล 1001 ครั้ง