ททท. เข้าร่วมงาน Global Tourism Forum : Dubai Blockchain for Travel นำเสนอการท่องเที่ยวยุคดิจิตัลและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Tech savvy จากทั่วโลกมาเยือนเมืองไทย
ค่ำวานนี้ (26 มีนาคม 2565) นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าร่วมงาน Global Tourism Forum : Dubai Blockchain for Travel และเป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยี Blockchain สะพานสู่การท่องเที่ยวอัจฉริยะ” ณ โรงแรม Rixos Premium Dubai เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการรองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. กล่าวว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีของประเทศไทย ในการนำเสนอภาพลักษณ์และความพร้อมด้านการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายทั่วโลก ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี (Tech savvy) ที่ไม่จำเป็นต้องทำงานจากสถานที่ทำงานอีกต่อไป และมีการใช้จ่ายในสกุลเงินดิจิทัลอีกด้วย
รองผู้ว่าการรองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. กล่าวในรายละเอียดว่า การประชุมและเสวนาระดับนานาชาติ (The Global Tourism Forum) ครั้งนี้ จัดโดย World Tourism Forum Institute ซึ่งเป็นองค์กรด้านการท่องเที่ยวและการวิจัยชั้นนำของโลก ในหัวข้อหลัก คือ “Dubai Blockchain for Travel” เพื่อเป็นการนำผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีจากทั่วโลก มาร่วมการบรรยายและเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น องค์ความรู้ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ ในประเด็นที่มีความน่าสนใจ สร้างสรรค์ และมีความสำคัญ อาทิ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่กับโอกาสที่สำคัญของเทคโนโลยี Blockchain การใช้เหรียญโทเคนดิจิทัลทางการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีทางการท่องเที่ยว รวมไปถึงอิทธิพลของคริปโตเคอร์เรนซีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
หัวข้อการเสวนาในการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นการนำเสนอทางเลือกและโอกาสทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้กับนักเดินทางกลุ่ม Generation Z และ Generation Alpha และในปัจจุบันกลุ่ม Digital Nomad ได้หันมาใช้คริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการสร้างรายได้แบบ Passive Income ที่ให้ผลตอบแทนสูง อีกทั้งมีความสะดวกและปลอดภัย ประชากรกว่า 35 ล้านคนทั่วโลก มองว่าตนเองเป็นหนึ่งในกลุ่ม Digital Nomad และประมาณ 16% ของคนกลุ่มนี้มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งมีความพึงพอใจต่อการใช้คริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว โดยมีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก และผู้คนจะเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อการจัดเก็บและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Blockchain กำลังพิสูจน์ให้โลกเห็นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสถานะของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการมีบทบาทสำคัญในการรักษาข้อมูลให้มีความปลอดภัย ได้รับการปกป้อง และเชื่อถือได้
ทั้งนี้ นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการรองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. ได้เป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยี Blockchain สะพานสู่การท่องเที่ยวอัจฉริยะ” ร่วมกับ Sumaira Isaacs, CEO of World Tourism Forum Institute และ Angela Gerekou, President, Greek National Tourism Organization ดำเนินรายการโดย Neslihan Gündeş, Director of Partnerships and Board affairs, World Tourism Forum Institute โดยได้นำเสนอสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย หลังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย การรับมือกับผลกระทบที่ยิ่งใหญ่นี้ ได้ทำให้ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยการประกาศ “Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters” ส่งเสริมให้ปี 2565 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืน ส่งมอบความสุข ความปลอดภัย บนพื้นฐานความเป็นไทยที่สร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง และกล่าวว่า “ทุกวิกฤตมาพร้อมโอกาส” การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการท่องเที่วของประเทศไทย ในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบนิเวศการท่องเที่ยวไทยทั้งหมดให้ก้าวไปข้างหน้า นำไปสู่การต่อยอดการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์สำหรับ ททท. การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบนิเวศการท่องเที่ยวไทย นอกจากเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยวท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง รวมถึงแรงงานคุณภาพจากต่างประเทศ ให้เดินทางมาทำงานและท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย
พร้อมกันนี้ ได้นำเสนอปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย 3 ประการ คือ ประการที่ 1 การสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความพร้อม โดยสร้างความรู้และมีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้นแก่คนไทย โดย ททท. ได้เริ่มศึกษาแนวทางการสร้างเมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือพื้นที่เสมือนจริงสำหรับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว เริ่มจากการสร้าง “เมตาเวิร์สไร่ทุเรียน” ที่ผู้คนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมสวนทุเรียน และสามารถทำการซื้อขายทุเรียนได้จริง เป็นการสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ด้านการท่องเที่ยวและนับเป็นการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยใช้ประโยชน์จากคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการพัฒนาในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ ททท. ยังเตรียมศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จาก Non-Fungible Token (NFT) โดยอาจเริ่มจากการนำไปใช้ในงานศิลปะท้องถิ่นต่าง ๆ อาทิ ภาพวาด กราฟฟิก วิดีโอ และเพลง โดย ททท. จะมองหาโอกาสในการนำมาใช้ประโยชน์กับภาคการท่องเที่ยวต่อไป ประการที่ 2 การเปิดตัวความคิดริเริ่มหรือโครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มนักท่องเทียวชาวไทย ควบคู่ไปกับการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มสาธารณชนคนไทย โดย ททท. ได้ริเริ่มโครงการ “Thailand Holideals” รวบรวมแพ็กเกจ สิทธิประโยชน์ และโปรโมชันท่องเที่ยวสุดพิเศษ จากผู้ประกอบการท่องเที่ยวชั้นนำทั่วเมืองไทย มาให้นักท่องเที่ยวได้เลือกสรรผ่านเว็บไซต์ holideals.tourismthailand.org โดยสามารถเลือกชำระด้วยระบบโทเคนดิจิทัลได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยกับการใช้เหรียญดิจิทัลเพื่อการใช้จ่ายสินค้าทางการท่องเที่ยว และประการที่ 3 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้เทคโนโลยีในยุคแรก ๆ หรือนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Native / Generation Z / Digital Nomad หรือ Remote Worker กลุ่มบุคคลเหล่านี้ต่างมีความรู้และความเข้าใจในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างดี โดยอาจเริ่มต้นจากการใช้โทเคนดิจิทัล หรือ NFT ด้วยการสร้างคอลเลกชันของ NFT ร่วมกับศิลปินท้องถิ่นในประเทศไทย เพื่อสร้างการรับรู้ในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย นำเสนออัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศิลปะไทย สู่เวทีระดับโลกนอกเหนือจากการมาร่วมเสวนา เนื้อหาสาระการบรรยายแล้ยังเป็นการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือทางวิชาการ เทคโนโลยี และการยกระดับของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในมิติด้านดิจิตัล ให้ก้าวสู่สากลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
การประชุมครั้งนี้เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกของสกุลเงินดิจิทัลและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยความโดดเด่นของวิทยากรที่มีชื่อเสียง และผู้มีอิทธิพลมากประสบการณ์จากทั้งภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีที่ต่างมาเข้าร่วมการประชุมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อมโยงของภาคการท่องเที่ยวและเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ François Hollande อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส เข้าร่วมเป็นวิทยากรปราศรัยในหัวข้อ “อิทธิพลของคริปโตเคอร์เรนซีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว” Taleb Rifai, Secretary General of World Tourism Forum Institute เป็นวิทยากรปราศรัยในหัวข้อ “ระบบนิเวศใหม่ของการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี Blockchain” และ Michael Gebert, Chairman, European Blockchain Association เข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “ระบบนิเวศของเทคโนโลยี Blockchain ของสหภาพยุโรป - การกำหนดอนาคตดิจิทัลของยุโรป”
แสดงผล 1024 ครั้ง