การบินไทยและไทยสมายล์ ลงนามแสดงเจตจำนงกับ ททท. นำนักท่องเที่ยวจากอินเดียเข้าไทยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
วันนี้ (8 เมษายน 2565) เวลา 10.00 น. นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) พร้อมด้วยนายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานในการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent-LOI) ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท การบินไทยฯ และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ในการวางแผนกระตุ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากอินเดีย โดยมี นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทยฯ และนายวิเศรษฐ์ สนธิชัย รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ร่วมลงนาม ณ การบินไทย สำนักงานใหญ่
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่าปัจจุบันหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ ผู้โดยสารมีความต้องการการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวไทย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้ การบินไทย ไทยสมายล์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent-LOI) วางกลยุทธ์และดำเนินกิจกรรมการตลาดเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวของตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (Joint Promotion) และสิทธิพิเศษแก่นักท่องเที่ยวในเส้นทางเดินทางดังกล่าว การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวพักผ่อน กลุ่มนักกอล์ฟกลุ่มแต่งงาน กลุ่มเยี่ยมญาติ เป็นต้นตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการยกระดับและพัฒนาการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
จากจำนวนผู้โดยสารตลาดอินเดียในปี 2562 (ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) อยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านคน สร้างรายได้ให้บริษัทฯ กว่า 8,500 ล้านบาท การร่วมมือกันในครั้งนี้จึงคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทย หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ให้ฟื้นตัวและขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน การบินไทย และสายการบินไทยสมายล์ ทำการบินเส้นทางระหว่างอินเดียมายังประเทศไทย ดังนี้
1.เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-นิวเดลี ทำการบินสัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน
2.เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-มุมไบ ทำการบินสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน
3.เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-เจนไน ทำการบินสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน
4.เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-เบงกาลูรู ทำการบินสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน
5.เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-กัลกัตตา ทำการบินสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (ทำการบินโดยสายการบินไทยสมายล์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)
6.เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-มุมไบ ทำการบินสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (ทำการบินโดยสายการบินไทยสมายล์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)
นอกจากความร่วมมือในเส้นทางตลาดอินเดียดังกล่าว การบินไทยยังได้เปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ ในตารางบินฤดูร้อน ปี 2565 เพิ่มมากขึ้นกว่า 34 เส้นทางบิน ครอบคลุมทั้งเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย ผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อเส้นทางบินสู่เมืองต่าง ๆ อย่างสะดวกสบายด้วยสายการบินไทยสมายล์ และสายการบินพันธมิตร รวมทั้งจะมีการพิจารณาเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอนาคตตามนโยบายของภาครัฐต่อไป
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ที่ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือในวันนี้ กล่าวว่า ตลาดอินเดียเป็นตลาดศักยภาพขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชียใต้ ทั้งจำนวนขนาด Market Size และผู้ที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย หลายประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวก็ต้องการพึ่งพิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากอินเดียเป็นเป้าหมายหลักเช่นกัน การลงนาม LOI ในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีต่อการตลาดเชิงรุกหลังการบรรลุข้อตกลงเรื่องการทำ Air Travel Bubble Arrangement ระหว่างสองประเทศ จึงมั่นใจว่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความสำเร็จในการผลักดันการฟื้นคืนของตลาดอินเดียให้กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น
สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทย จากสถิติปี พ.ศ. 2562 นักท่องเที่ยวจากอินเดียเดินทางเข้าไทย 1,995,516 คน ขยายตัวร้อยละ 24.85 สร้างรายได้ 86,372.01 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.45 (ที่มา กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
ด้าน นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ ททท. เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแนวทางการส่งเสริมตลาดอินเดียว่า เพื่อให้สอดรับกับแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยประจำปี 2565 “Visit Thailand Year 2022” ททท. จะมุ่งเน้นส่งเสริมตลาดอินเดีย โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มความสนใจพิเศษที่มีการใช้จ่ายสูง ผ่านการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงาน ททท. กรุงนิวเดลี และเมืองมุมไบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การทำการตลาดผ่าน Celebrity/Influencer เพื่อสื่อสารไปยังผู้ติดตามที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Millennials ให้ข้อมูลกับบริษัท นำเที่ยวในอินเดียถึงมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย รวมทั้งสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อนำไปวางแผนทำกิจกรรม Joint Promotion โดยเฉพาะสำหรับตลาดกลุ่มระดับบน (luxury) ในอนาคต, ส่งเสริมกลุ่มแต่งงานอินเดียในประเทศไทย ด้วยการจัด Amazing Thailand Wedding EXPO 2022 ในเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้คู่รักได้วางแผนการจัดงานแต่งงานในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่นิยมจัดในช่วงปลายปี, Kick-off สื่อสารความพร้อมของประเทศไทยในการรุกตลาดผ่านการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย งาน South Asia Travel and Tourism Exchange (SATTE) 2022 ในวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงนิวเดลี เป็นต้น
ทั้งนี้ หากประเมินจาก load factor ของการบินไทยและไทยสมายล์ ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป คาดว่าประเทศไทยจะสามารถนำชาวอินเดียเข้ามาท่องเที่ยวได้อย่างน้อย 13,000 คนต่อเดือน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมผู้เดินทางจากสายการบินอื่น และคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 80,000 คนต่อเดือน เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
แสดงผล 851 ครั้ง