ไทยจัดงาน Gala Dinner รับรองผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค ปิดฉากการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 อย่างประทับใจ
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดกิจกรรมส่งท้ายการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 60 และการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 ด้วยงานเลี้ยงรับรองผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ บ้านปาร์คนายเลิศ กรุงเทพมหานคร พร้อมนำเสนอ Soft Power ด้วยคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยภายหลังยุคโควิด - 19 ภายใต้แนวคิด “การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regenerative Tourism)” ตอกย้ำเป้าหมายการมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า กระจายผลประโยชน์ และยกระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชนในท้องถิ่น
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวในพิธีเปิดว่า “ในปี 2565-2566 ประเทศไทยกำหนดให้เป็นปี Visit Thailand Year โดยเราตั้งใจที่จะพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวไทยทั้งระบบอย่างสมดุลในทุกมิติเพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว (Meaningful Travel)”
ภายในการจัดงานเลี้ยงรับรอง ได้นำเสนอประสบการณ์ความงามของวิถีไทย ผ่านการรับรู้ทางผัสสะทั้ง 5 ได้แก่
• รูป ความงดงามของวิถีไทยผ่านบรรยากาศของบ้านไทยโบราณ และงานฝีมือที่แม้เป็นบางส่วนของดอกไม้ก็ยังสามารถนำมาสร้างคุณค่าได้ พัฒนาสู่การเพิ่มรายได้ของชุมชนผู้ค้าดอกไม้ โดยได้ร่วมมือกับเกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้สดจากสวนดอกไม้ชุมชนราชบุรี สวนไม้ใบชุมชนปทุมธานี และฟาร์มกล้วยไม้และดอกไม้บุญตาจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร สร้างคุณค่าของดอกไม้ให้ย้อนกลับไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน
• รส ลิ้มรสคุณค่าของเครื่องดื่มและขนมไทย ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนรวมเข้ากับงานฝีมือของคนไทยที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน สร้างเป็น Soft Power ที่มีคุณค่าที่ยั่งยืนระดับโลก
• กลิ่น สัมผัสกลิ่นในแบบฉบับของไทยที่เป็นหนึ่งเดียวของโลก การพัฒนาองค์ความรู้ชุมชนสู่คุณค่าในเวทีโลก ประกอบด้วยกลิ่นมะม่วง ชามะตูม และสายไหม
• เสียง รื่นรมย์กับเสียงดนตรีไทยที่ผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากลบรรเลงในบทเพลงไทยและสากลได้อย่างลงตัว คุณค่าของดนตรีไทยที่พัฒนาเคียงข้างยุคสมัยของสากล สร้างให้ดนตรีไทยไม่หายไปในกระแสโลก
• สัมผัส สัมผัสความเป็นมิตร ความโอบอ้อมอารีของคนไทย ผ่านการแสดงหุ่นกระบอก คุณค่างานแสดงของไทยในระดับสากล คุณค่าความเป็นไทยที่ไม่เหมือนใคร
นอกจากนี้ ยังได้ส่งมอบประสบการณ์ที่มีความหมายและทรงคุณค่า ผ่านอาหาร การแสดง และดนตรี ของศิลปวัฒนธรรมไทย 4 ภาค เพื่อให้ผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รู้จัก “ความเป็นไทย” ในชั่วข้ามคืน
• ภาคกลาง นำเสนอ การแสดงศิลปะมวยไทย การฉายภาพบรรยากาศวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง พร้อมบทเพลงโดยวงประสานเสียง สวนพลู คอรัส ในช่วงเรียกน้ำย่อย
• ภาคใต้ นำเสนอแหล่งอารยธรรม และความงามของขุนเขาและท้องทะเล “ภาคใต้” รับประทานอาหารจานหลักเป็นปลาจากทะเลไทย ท่ามกลางบรรยากาศของท้องทะเลภาคใต้พร้อมดนตรีสดฟังสบาย โดย Nutty ณัชยา และวง Melodic Corner จากเวที International Jazz & Blue Festival 2022 แสดงศักยภาพการดนตรีไทยในระดับสากล
• ภาคอีสาน นำเสนอจุดแข็งความเป็นแหล่งงานฝีมือ ภูมิปัญญาไทยที่ดังไกลไปทั่วโลกด้วย E-Sarn Spirit Fashion Show การแสดงที่นำเสนอถึงวิถีชีวิตไทย ภูมิปัญญาไทย ผ่านการสร้างคุณค่าจากผ้าไทย งานฝีมือชุมชนชาวอีสานที่หลอมรวมการดีไซน์ที่ร่วมสมัย ให้ผ้าไทยมีชีวิตในระดับโลก สร้างมูลค่าให้ผ้าทอไทย ต่อลมหายใจให้ชุมชนทอผ้าอย่างยั่งยืน
• ภาคเหนือ นำเสนอความภาคภูมิใจแห่งวัฒนธรรมล้านนาส่งท้ายงานเลี้ยงรับรอง ด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาชุด “ล้านนามหรสพ” ที่รวมการแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือไว้ด้วยกัน ที่มาพร้อมเสิร์ฟของหวานประจำเมืองเหนือ
การจัดการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ.2565 และกิจกรรมคู่ขนาน ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสการแสดงศักยภาพและความพร้อมของภาคการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนเรียกความเชื่อมั่น และแสวงหาความร่วมมือจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคการท่องเที่ยว สู่การเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม (Rebuilding High Value Tourism Industry with Resilience, Sustainability and Inclusive Growth)” ตามวิสัยทัศน์แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570)
แสดงผล 1027 ครั้ง