ททท. ผนึกผู้ประกอบการไทยร่วมงาน Tourism EXPO Japan 2022 บุกตลาดญี่ปุ่นหวังดึงกลับมาเที่ยวไทย เพิ่มกลุ่ม Boy Love และ Oya-Rich ซึ่งเป็นกลุ่มศักยภาพสูง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินเกมรุกตลาดญี่ปุ่นหลังเปิดประเทศ นำทีมผู้ประกอบการไทย 10 ราย เข้าร่วมงาน Tourism EXPO Japan 2022 (TEJ) ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เสนอแนวคิด “THAILAND GREEN TOURISM – Amazing New Chapters” ชูกลยุทธ์ 5 New ฟื้นตลาดระยะใกล้ พร้อมเปิดตลาดศักยภาพใหม่ Boy Love / Oya-Rich เร่งเพิ่มอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทย กลับมาร้อยละ 70 ของปี 2562
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า งาน Tourism EXPO Japan 2022 (TEJ) จัดขึ้นโดยสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Association of Travel Agents : JATA) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Travel and Tourism Association : JTTA) ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 34 และเป็นการกลับมาจัดงานในรอบ 2 ปี ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นเวทีเจรจาธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และเป็นโอกาสที่ได้สร้างการรับรู้ นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย ควบคู่กับกระตุ้นตลาดญี่ปุ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยวันที่ 22-23 กันยายน 2565 จะเป็นงานสำหรับเจรจาธุรกิจ (Trade & Press Day) และวันที่ 24-25 กันยายน 2565 จะเป็นงานสำหรับให้ประชาชนทั่วไปร่วมงานได้ (General Public Day) คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 200,000 คน
ปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 ททท. ยังคงดำเนินการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยตามแนวคิด “Amazing Thailand, Amazing New Chapters” เพื่อเป้าหมายพลิกฟื้นอุตสาหกรรท่องเที่ยวอย่างสมดุลสู่ High Value & Sustainable Tourism และงาน TEJ 2022 ครั้งนี้ ททท. ได้นำทีมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวไทย จำนวน 10 ราย เข้าร่วมงาน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พักจำนวน 7 ราย และธุรกิจบริษัทท่องเที่ยว จำนวน 3 ราย ภายในงานประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรม Business Meeting , International Tourism Forum และ Travel Showcase สำหรับคูหาประเทศไทยนำเสนอแนวคิด “THAILAND GREEN TOURISM – Amazing New Chapters” โดยคูหาประเทศไทยจะใช้สำหรับเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อในตลาดญี่ปุ่นและผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ซึ่งใช้เวลาเจรจาธุรกิจครั้งละ 20 นาที รวมจำนวนนัดหมายทั้งสิ้น 21 นัดหมาย รวมถึงเป็นพื้นที่ให้ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ และจัดกิจกรรมสาธิต การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ควบคู่กับการนำเสนอข้อมูลสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism) ผ่านกิจกรรมเวิร์กชอปกระเป๋าอวน และทำกระดาษจากมูลช้าง Elephant POO POO Paper
และช่วงเย็นของวันที่ 21 กันยายน 2565 ททท. ได้จัดงาน Amazing Thailand New Chapters Reception ณ โรงแรม The Prince Park Tower Tokyo ซึ่งตั้งใจให้เป็นเวทีสำหรับสื่อสารแนวทางประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด “Visit Thailand Year 2022 - 2023 : Amazing Thailand New Chapters” และเสนอทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 สะท้อนถึงความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจํากรุงโตเกียว, ผู้ว่าการ ททท. Mr. Ohata Takahiko ประธานสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศ (Oversea Tour Operators Association) คณะผู้บริหาร ททท. บริษัทนําเที่ยว พันธมิตรด้านการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น สื่อมวลชนไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วมงาน พร้อมแนะนําทูตการท่องเที่ยวประเทศไทยในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ศิลปินกลุ่ม Sato Triplets (Mr. Ayato, Mr. Hayato และ Mr. Yoshito Sato) และชวนสัมผัสเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านการแสดงวัฒนธรรมไทย ชุดโขน มหานาฏกรรม และชุดการแสดงสี่ภาค
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า สำหรับตลาดระยะใกล้ ททท. วางแผนพลิกโฉมเปลี่ยนมุมมองในหลายมิติด้วยกลยุทธ์ 5 New ได้แก่ New Segment เจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโต New Area แสวงหากลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในพื้นที่ศักยภาพใหม่ๆ New Partner ร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายใหม่ New Infrastructure ใช้ประโยชน์จากเส้นทางการคมนาคมใหม่ให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยว และ New Way นำเสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ชูเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยดึงฐานลูกค้าตลาดหลักและกระตุ้นความต้องการของกลุ่มคุณภาพ เช่น Millennial Gen X กลุ่ม Siler Age พร้อมขยายฐานตลาดกลุ่มความสนใจพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่ม Health & Wellness กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา รวมถึงกลุ่มตลาดเฉพาะอย่าง Digital Nomad และ Telework สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดญี่ปุ่น ททท.ยังคงให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มตลาด ซึ่งจะมุ่งเน้นตลาดคุณภาพที่เดินทางซ้ำ (Re-visit) ประกอบด้วยกลุ่ม Bleisure (Business+Leisure) กลุ่มนักกอล์ฟ กลุ่ม Lady Worker กลุ่มผู้สูงอายุ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ
กลุ่มตลาดศักยภาพใหม่ เช่น กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบละครไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Boy Love กลุ่ม Oya-rich เป็นต้น
ตลาดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเป็นตลาดคุณภาพที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีนัยยะสำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย จากสถิติปี 2562 ประเทศไทยให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นทั้งสิ้น จำนวน 1,787,185 คน สร้างรายได้ 93,759 ล้านบาท ทั้ งนี้ จากปัจจัยสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประกาศลดระดับการเตือนภัย (Travel Advisory) ให้ประเทศไทย อยู่ในระดับ 1 (เดินทางอย่างระมัดระวัง) ไม่มีเงื่อนไขเรื่องวัคซีน การกักตัวหลังเดินทางกลับ และผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น เพิ่มจำนวนผู้เดินทางเข้าเป็น 50,000 คนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2565 ประกอบกับความต้องการเดินทางของตลาดญี่ปุ่นในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน วันหยุดเทศกาลในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2565 และช่วงฤดูหนาวปลายปี และการกลับมาให้บริการเส้นทางประเทศญี่ปุ่นของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เส้นทาง นาริตะ-สุวรรณภูมิ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป เส้นทางฟูกูโอกะ-ดอนเมือง จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในเดือนสิงหาคม 2565 และเตรียมเปิดเส้นทาง ชิโตเสะ (ฮอกไกโด) – สุวรรณภูมิ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทาง คันไซ-สุวรรณภูมิ จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในเดือนตุลาคม 2565 รวมถึงศักยภาพของ Soft Power ของประเทศไทย เช่น อาหารไทย เทศกาลประเพณีไทย (เทศกาลลอยกระทง,สงกรานต์) กระแสละครไทย BL Series (Boy Love Series) และดนตรีไทย (T-POP) ที่กำลังได้รับความสนใจจากตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งช่วยส่งเสริมแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น และ ททท. ตั้งเป้าหมายตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาเยือนประเทศไทยร้อยละ 70 ของปี 2562 หรือจำนวนประมาณ 1,250,000 คน