ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และประชุม ครม. สัญจร ณ จังหวัดเพชรบุรี ดึงจุดแข็งสินค้าท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี ผลักดันการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 3/2567 ณ จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้แนวคิด “ฐานเศรษฐกิจสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” พร้อมติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และ สมุทรสาคร ระหว่างวันที่ 13 - 14 พฤษภาคม 2567 โดยเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรี มุ่งดึงจุดแข็งของสินค้าและบริการการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมผลักดันการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค ด้วยการพัฒนามาตรฐานท่าอากาศยานหัวหินรองรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรีเมือง 3 วัง มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว ด้วยเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อาหารถิ่นรสเลิศ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหารือและตรวจราชการในหลายมิติ ได้แก่ การพัฒนามาตรฐานสนามบินหัวหินเพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ กระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติในช่วงไฮซีซั่นซึ่งจะเดินทางมาท่องเที่ยวอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยขอให้พิจารณาเรื่องการเปลี่ยนชื่อสนามบินหัวหินเป็นสนามบินเพชรหัวหิน เพื่อขยายการท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยงชะอำ – หัวหิน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ในประเด็นต่อยอดจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO และยกระดับเมืองสร้างสรรค์ด้านโลกสู่ความยั่งยืน (Phetchaburi : The Green Gem of Thai Gastronomy) เพื่อดึงจุดแข็งสินค้าทางการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 3/2567 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ต้องดำเนินการ 4 ประการ ได้แก่ 1) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมือง 4 บุรี (จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี) พัฒนาศักยภาพในการยกระดับเป็นเมืองใหญ่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ ตลอดจนดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุนในพื้นที่ 2) การส่งเสริมและพัฒนาอุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี ไว้สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสันทนาการ นันทนาการ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬา 3) การพัฒนาท่าอากาศยานหัวหินสู่สนามบินนานาชาติ ขยายรันเวย์ในการรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติและเพิ่มจุดอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวภายในท่าอากาศยาน โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2568 4) ส่งเสริมประเพณีท้องถิ่น “วัวลาน” เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมต่อยอดทางการท่องเที่ยวสู่ Soft Power of Thailand ประชาสัมพันธ์ต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผลักดันเป็นการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ทั้งนี้ ได้สั่งการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยเวลาเริ่มกิจกรรมการแข่งขันจาก 07.00 – 19.00 น. เป็นเวลา 18.00 น. – 06.00 น. ให้เป็นไปตามวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มีผลภายใน 1 เดือนนับจากนี้

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลมุ่งเน้นการยกระดับพื้นที่และของดีประจำจังหวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และด้วยต้นทุนทางทรัพยากรที่หลากหลาย ความพร้อมและศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี ทำให้มีหลายโครงการที่ต้องพิจารณาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงการสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยนำ Soft Power ของจังหวัดมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้กีฬาวัวลานเป็นที่นิยมนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงกีฬา จับกลุ่มนักท่องเที่ยวสายศรัทธาทั้งชาวไทยและต่างชาติ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยนำเสนอพญานาคองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่วัดถ้ำแจง อำเภอชะอำเป็นจุดขาย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในจังหวัด เนื่องจาก จังหวัดเพชรบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากและระยะทางไม่ไกลกัน รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง (ชะอำ – หัวหิน) ตลอดจนเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ (หัวหิน - เชียงใหม่) เพื่อขยายผลตามนโยบายของจังหวัดในการยกระดับเพชรบุรีสู่ระดับสากล (Cha-am Inter) ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนำไปสู่รายได้ท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท ตามเป้าหมายของรัฐบาล

ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2566 จังหวัดเพชรบุรีมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 10,819,466 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.26 เมื่อเทียบกับปี 2565 แบ่งเป็นชาวไทย 10,670,442 คน และชาวต่างชาติ 149,024 คน มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน 32,334.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.75 เมื่อเทียบกับปี 2565 แบ่งเป็นรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 31,075.36 ล้านบาท และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ 1,258.99 ล้านบาท

แสดงผล 402 ครั้ง