นรม. ลงพื้นที่เมืองโคราช เร่งเพิ่มศักยภาพกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง สั่งการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บูรณาการทุกมิติ เสริมกลยุทธ์การตลาด หนุนโคราชเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรม” ดันเป้าหมายนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติราชการ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2567 ประกาศเร่งแก้ปัญหา สร้างรายได้ และเพิ่มศักยภาพพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ก่อนแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 โดยมีมติอนุมัติงบประมาณ 496 ล้านบาท ครอบคลุมการพัฒนาการจราจร ประปา การค้าการลงทุน และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตั้งธงเห็นผลสำเร็จในระยะ 1 ปี ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมบูรณาการทุกภาคส่วน ต่อยอดโคราชสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรม MICE City และเพิ่มเติมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คาดช่วงไฮซีซั่นนักท่องเที่ยวเข้าโคราช เดือนละ 1 ล้านคน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 10 ล้านคนในปีนี้
วันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 กลุ่มนครชัยบุรินทร์ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ เร่งแก้ปัญหา สร้างรายได้ และเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การยกระดับภาคเกษตร การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างความปลอดภัยของประชาชน โดยวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นประธานการอบรมสัมมนา “Digital Korat: The Future Starts now โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต”ย้ำเดินหน้านโยบาย “รัฐบาลดิจิทัล” พร้อมตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) จากนั้นติดตามโครงการระบบผลิตน้ำประปาที่อำเภอโนนสูง โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน ตลอดจนสั่งการงบประมาณ และรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ก่อนจะเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนคราชสีมา ในเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2567
ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีฯ มีมติเห็นชอบข้อเสนอและโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ จากภาครัฐและเอกชนที่จะสามารถดำเนินการเห็นผลได้ภายในระยะ 1 ปี จำนวน 24 โครงการ รวมงบประมาณ 496 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจราจร น้ำประปา การค้า การลงทุน และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก อาทิ โครงการ Triple Heritage Ring Road ยกระดับสินค้าและบริการของท้องถิ่นตามเส้นทาง 3 มรดกโลก เชื่อมโยงการท่องเที่ยวนครชัยบุรินทร์, โครงการการสร้าง “ศูนย์กลางการประกอบอาหารนครชัยบุรินทร์ (Nakhornchaiburin Gastronomy Hub)”, โครงการส่งเสริมศักยภาพคลัสเตอร์ไหมอีสานกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์สู่สากล, โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัยนครชัยบุรินทร์, โครงการ Locations For Film Industry in Korat เพิ่มศักยภาพเมืองโคราชเป็นพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ โดย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เป็นต้น สำหรับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเข้าไปมีส่วนร่วมบูรณาการทั้งด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาดกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาเป็น “ประตูสู่อีสาน ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรม และเกษตรมูลค่าสูง” และเป็นจุดหมายปลายทางในระดับสากล
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นอกจากการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังเตรียมต่อยอดความเป็น “MICE City” ของนครราชสีมา ยกระดับความพร้อมของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการจัดอบรม สัมมนา นิทรรศการและงานอีเวนต์ และส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองหลัก-เมืองน่าเที่ยว รวมทั้งได้มอบนโยบายการส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ในโอกาสลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของอารยสถาปัตย์ เส้นทาง “สระบุรี-นครราชสีมา” ณ อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 โดยมุ่งสร้างสภาพแวดล้อม สินค้าและบริการให้เหมาะกับทุกความต้องการ สามารถเข้าถึงได้ทั้งทางกายภาพ การสื่อสารและเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุมมากที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนท้องถิ่น นำไปสู่การมองเห็นคุณค่า อนุรักษ์และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับทุกคนต่อไป
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท. ตั้งธงส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โดยยก “โคราช”เป็นศูนย์กลางก่อนเชื่อมโยงไปเมืองน่าเที่ยวใกล้เคียง ต่อยอด 3 จุดขายสำคัญ ได้แก่ ธรรมชาติ : ความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ประวัติศาสตร์ : โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และวัฒนธรรม : เส้นทาง “เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก” เพลงโคราช อาหารท้องถิ่น มวยโคราช ร้อยเรียงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวนำเสนอขายพร้อมเสริมทัพด้วยกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นความต้องการเดินทาง ทั้งในแง่จำนวนและรายได้ อาทิ โครงการ “ท่องถิ่น กินเที่ยว โคราช” เส้นทาง “ท่องเที่ยว 3 มรดกโลก ยูเนสโก” เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy) โครงการ MICHELIN โครงการ “WEEKDAY WORKATION @นครราชสีมา” นำเสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยววันธรรมดา ในรูปแบบการจัดประชุม สัมมนา Outing และ โครงการ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน @นครราชสีมา” ส่งเสริม Sport Tourism และการจัดอีเวนต์ในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังนำเสนออัตลักษณ์จุดขายผ่านแนวคิด 5 Must Do in Nakhonratchasima สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE Thailand’s Tourism ของรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ปี 2567 เดือนมกราคม-เมษายน มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวมทั้งสิ้น 2,821,084 คน-ครั้ง สร้างรายได้แล้ว 5,674 ล้านบาท โดย ททท. เชื่อมั่นว่า ช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวและการจัดอีเวนต์ของจังหวัดนครราชสีมา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน จะเข้ามาเป็นแม่เหล็กสำคัญในการกระตุ้นการออกเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามายังจังหวัดนครราชสีมา เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน มุ่งสู่เป้าหมายภาพรวมนักท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา แตะ 10 ล้านคน-ครั้ง และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท